แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เอกสารของจำเลยเป็นแต่เพียงประกาศให้ลูกจ้างทุกคนทราบผลของการที่โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบว่าจะถูกลงโทษเช่นไร และถ้าผู้ใดกระทำก็จะถูกลงโทษ ไม่มีข้อความตักเตือนโจทก์มิให้กระทำความผิดอีก และจำเลยก็ได้ลงโทษโจทก์ในการกระทำความผิดดังกล่าวไปแล้วดังนี้ ถือไม่ได้ว่าเอกสารนี้เป็นคำเตือนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 47(3)
(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 3601/2525)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ไม่มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ หาประโยชน์ส่วนตัว เอาเปรียบผู้บริหารและเพื่อนร่วมงาน ซึ่งไม่เป็นความจริง จำเลยไม่จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลย จำเลยได้มีคำเตือนเป็นหนังสือแล้วแต่โจทก์ยังฝ่าฝืนอีก จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
โจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันและของดสืบพยานให้ศาลวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่า เอกสารหมาย ล.๑ เป็นคำเตือนที่เป็นหนังสือตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ ๔๗(๓) หรือไม่โดยถือเป็นข้อแพ้ชนะในคดี
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เอกสารหมาย ล.๑ ไม่เป็นคำเตือนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ ๔๗(๓) ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า เอกสารหมาย ล.๑ มีข้อความว่าฯลฯ อาจารย์บัณฑูรย์ แจ้งสุข และอาจารย์ชัชฎาภรณ์ ผิวนวลหงษ์ ได้ร่วมกันสับเปลี่ยนเวร มิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งและระเบียบอันถูกต้องของผู้จัดการ และอาจารย์บัณฑูรย์ แจ้งสุข ได้เข้ามาปฏิบัติงานเมื่อเวลา ๑๑.๕๐ น. จากการกระทำเช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นเด่นชัดว่า มิได้ใส่ใจต่อหน้าที่การงานและเชื่อถือในคำสั่งของผู้จัดการที่มอบหมายให้
จึงเห็นควรให้ตัดเงินเดือนประจำในสิ้นเดือนเมษายน ๒๕๒๗ เป็นต้นไป
๑. อาจารย์บัณฑูรย์ แจ้งสุข ๕% ๓ เดือน
๒. อาจารย์ชัชฎาภรณ์ ผิวนวลหงษ์ ให้ภาคทัณฑ์ไว้ ๑ ปี
อนึ่ง หากอาจารย์ท่านใดมีความประพฤติอันเป็นแบบอย่างที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้นอีกจะพิจารณาลงโทษในขั้นต่อไป
จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อความดังกล่าวมีความหมายเป็นแต่เพียงประกาศให้ลูกจ้างของจำเลยทุกคนทราบผลของการฝ่าฝืนระเบียบของจำเลยแล้วจะถูกลงโทษเช่นไร และถ้าผู้ใดกระทำขึ้นอีกก็จะถูกลงโทษ เอกสารหมาย ล.๑ นี้ไม่มีข้อความตักเตือนโจทก์มิให้กระทำความผิดอีก และจำเลยก็ได้ลงโทษโจทก์ในการกระทำความผิดดังกล่าวไปแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าประกาศตามเอกสารหมายล.๑ เป็นคำเตือนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯข้อ ๔๗(๓) ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๖๐๑/๒๕๒๕ นางชิงชัย แสงทอง โจทก์บริษัทสยามปาร์เก้ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด จำเลย
พิพากษายืน