คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1985/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ชื่อเจ้าของบัญชีและเงินตามสมุดคู่ฝากเป็นของ ว. มารดาโจทก์ ว. นำเงินดังกล่าวไปทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ของ อ. ในวันเดียวกับที่เปิดบัญชีเงินฝาก จึงมีอำนาจกระทำได้โดยชอบ ละ ว. ต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าว แม้ ว. จะยอมให้โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากตามสมุดคู่ฝากร่วมด้วยในภายหลังก็ตามเมื่อ อ. ยังไม่ได้ชำระเงินกู้ให้ธนาคารจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนเงินในบัญชีเงินฝากตามสมุดคู่ฝากแก่โจทก์

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นสืบพยานจำเลยซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนได้ 1 ปาก แล้วสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลย พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินคดีใหม่ตามรูปคดี ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ทางพิจารณาได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยว่า เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2519 นายอุดมเดช ชาญชยศึก เป็นผู้พานางวิบูรณ์ศรี หาสตะนันทน์ มารดาโจทก์นำเงิน 250,000 บาทไปเปิดบัญชีเงินฝากประจำประเภท 12 เดือนที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาราชเทวีโดยใช้ชื่อบัญชีว่า นางสาวสดุดี กรรณสูต และชื่อเจ้าของบัญชีว่านางสาวสดุดีแล้วขีดฆ่าและเขียนว่า นางวิบูรณ์ศรี หาสตะนันทน์ ปรากฏตามคำขอเปิดบัญชีเลขที่ 1232127983 เอกสารหมาย ล.1 และสมุดคู่ฝากสำหรับบัญชีเงินฝากประจำมีชื่อนางสาวสดุดี กรรณสูต โดยนางวิบูรณ์ศรี หาสตะนันทน์ (ก่อนมีการขีดฆ่าตกเติม) ตามเอกสารหมาย ล.2 และในวันเดียวกันนั้นเอง ปรากฏว่านางวิบูรณ์ศรี หาสตะนันทน์ ได้ทำสัญญาค้ำประกันเงินที่นางอรยา ชาญชยศึกกู้ไปจากธนาคารจำเลยสาขาราชเทวี จำนวน 250,000 บาท ตามเอกสารหมาย ล.4 ถึง ล.6 ครั้นวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2520 วันที่ 23 มีนาคม 2520 และวันที่ 2 กันยายน 2520 นางวิบูรณ์ศรี หาสตะนันทน์ มอบให้ทนายความมีหนังสือถึงธนาคารจำเลย สาขาราชเทวี บอกเพิกถอนสัญญาค้ำประกันและสัญญายินยอมที่เกิดจากกลฉ้อฉล ตามเอกสารหมาย ล.7 ถึง ล.9 ตามลำดับ ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2521 ได้มีการขีดฆ่าตกเติมชื่อโจทก์ให้เป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 1232127983 ร่วมกับนางวิบูรณ์ศรี หาสตะนันทน์ ในคำขอเปิดบัญชีเงินฝากประจำเอกสารหมาย ล.1 และสมุดคู่ฝากเอกสารหมาย จ.2 นางวิบูรณ์ศรี หาสตะนันทน์ ป่วยเป็นโรคเส้นประสาทและเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ตามรายงานของแพทย์ เอกสารหมาย จ.6 และ จ.7

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่ว่าในขณะเปิดบัญชีเงินตามฟ้องโจทก์จำนวน 250,000 บาท ในสมุดคู่ฝากเอกสารหมาย จ.2 เป็นของโจทก์หรือเป็นของนางวิบูรณ์ศรี หาสตะนันทน์ ได้ความจากคำของโจทก์และนางวิบูรณ์ศรีหาสตะนันทน์ พยานโจทก์ว่า นางวิบูรณ์ศรีได้รับเงินค่าขายบ้านและที่ดินจำนวน 1,900,000 บาทจากนายอุดมเดช ชาญชยศึก และนายครรชิต แล้วแบ่งเงินให้นายรังษีพี่ชายโจทก์จำนวน 150,000 บาท โดยนำไปฝากเองที่ธนาคารเอเชียทรัสท์ จำกัด และแบ่งให้โจทก์จำนวน 250,000 บาท โดยนายอุดมเดชผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารจำเลย สาขาบางกะปิ ซึ่งเป็นเพื่อนกับนายรังษีพาไปฝากไว้ที่ธนาคารจำเลย สาขาราชเทวี อ้างว่าจะตกลงกับผู้จัดการสาขาแห่งนี้ให้ดอกเบี้ยร้อยละ 10 และสามารถเบิกเอาดอกเบี้ยมาใช้ได้ทุกเดือนเมื่อไปถึงธนาคารจำเลย สาขาราชเทวี นายอุดมเดชให้นางวิบูรณ์ศรีรอหน้าห้องผู้จัดการ นายอุดมเดชเข้าไปในห้องผู้จัดการ แล้วออกมาบอกนางวิบูรณ์ศรีว่าได้บอกผู้จัดการให้ทราบแล้วว่าเงินจำนวน 250,000 บาทฝากให้โจทก์ซึ่งขณะนั้นโจทก์อายุ 17 ปี และให้นางวิบูรณ์ศรีเซ็นในเอกสารที่ไม่ได้กรอกข้อความเข้าใจว่าเป็นเอกสารการฝากเงินให้โจทก์และดอกเบี้ย ตามที่ปรากฏในเอกสารหมาย ล.1 ล.4 ล.5 และ ล.6 แล้วธนาคารจำเลย สาขาราชเทวี ออกสมุดคู่ฝากให้ตามเอกสารหมาย จ.2 ครั้น พ.ศ. 2520 นางวิบูรณ์ศรีจะถอนเงินมาให้โจทก์ใช้ในการศึกษา แต่ธนาคารจำเลย สาขาราชเทวี ไม่ยอมให้ถอน โดยอ้างว่าได้ประกันหนี้ของนางอรยาอยู่ จึงให้ทนายความสืบว่านางอรยาเป็นใครได้ความว่านางอรยาคือภรรยานายอุดมเดช ขณะฝากเงิน 250,000 บาทนางวิบูรณ์ศรีไม่ทราบเลยว่าธนาคารจำเลย สาขาราชเทวี เอาเงินดังกล่าวค้ำประกันหนี้นางอรยา ถ้ารู้จะไม่ยอมทำ เพราะเป็นเงินโจทก์และโจทก์มิได้ให้ความยินยอมด้วยในการนำเงินไปค้ำประกันหนี้ดังกล่าว นางวิบูรณ์ศรีมอบให้ทนายความมีหนังสือถึงธนาคารจำเลย สาขาราชเทวี บอกเพิกถอนสัญญาค้ำประกันและสัญญายินยอมตามเอกสารหมาย จ.3 จ.4 และ จ.5 เดิมเอกสารหมาย ล.1 มีชื่อโจทก์ในช่องชื่อบัญชีและช่องชื่อเจ้าของบัญชีส่วนช่องลายมือชื่อเจ้าของบัญชีและตัวอย่างลายมือชื่อเจ้าของบัญชีนางวิบูรณ์ศรีหาสตะนันทน์ เซ็นคนเดียวตรงที่มีเครื่องหมายกากบาท ครั้น พ.ศ. 2521ธนาคารจำเลย สาขาราชเทวี แจ้งให้โจทก์ไปเซ็นในช่องลายมือชื่อเจ้าของบัญชีและตัวอย่างลายมือชื่อเจ้าของบัญชีใต้ลายมือชื่อ นางวิบูรณ์ศรี หาสตะนันทน์และขีดฆ่าชื่อโจทก์ในช่องเจ้าของบัญชีออกแล้วเติมชื่อนางวิบูรณ์ศรีและหรือโจทก์แทน ในสมุดคู่ฝากเอกสารหมาย จ.2 เดิมชื่อบัญชีเป็นชื่อโจทก์ ข้างล่างชื่อโจทก์ มีข้อความในวงเล็บว่า โดยคุณวิบูรณ์ศรี หาสตะนันทน์ แล้วแก้ไขในคราวเดียวกับเอกสารหมาย ล.1 โดยขีดฆ่าข้อความในวงเล็บออก แล้วเติมข้อความว่าโดยคุณสดุดี กรรณสูต และหรือคุณวิบูรณ์ศรี หาสตะนันทน์ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำขอเปิดบัญชีเงินฝากประจำตามเอกสารหมาย ล.1 และสมุดคู่ฝากตามเอกสารหมาย จ.2 มีชื่อนางวิบูรณ์ศรีมารดาโจทก์เป็นเจ้าของบัญชีและตัวอย่างลายมือชื่อเจ้าของบัญชีผู้มีสิทธิถอนเงินก็เป็นลายมือชื่อนางวิบูรณ์ศรีมารดาโจทก์มาแต่แรก แสดงว่านางวิบูรณ์ศรีมารดาโจทก์นำเงินจำนวน 250,000 บาทมาฝากไว้แก่จำเลยเพื่อตนเอง หาได้มีพยานหลักฐานแสดงว่า นางวิบูรณ์ศรี ฝากเงินจำนวนดังกล่าวแทนโจทก์หรือในนามโจทก์ไม่ แม้จะมีชื่อโจทก์ว่าคุณสดุดีในช่องเจ้าของบัญชีตามเอกสารหมาย ล.1 แต่ก็ขีดฆ่าแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นการเขียนผิดพลาดก็ได้ เพราะเมื่อขีดฆ่าแล้วก็ไม่ได้เขียนชื่อโจทก์ลงไปอีก กลับเขียนชื่อนางวิบูรณ์ศรีมารดาโจทก์แทน ส่วนในช่องชื่อบัญชีมีชื่อโจทก์นั้น ผู้ฝากจะใช้ชื่อว่าอย่างไรก็ได้ หาใช่เป็นสารสำคัญอันจะถือว่าเป็นเจ้าของบัญชีหรือเจ้าของเงินที่ฝากแต่ประการใดไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าชื่อเจ้าของบัญชีและเงินตามสมุดคู่ฝากเอกสารหมาย จ.2 เป็นของนางวิบูรณ์ศรีมารดาโจทก์ ดังนั้นการที่นางวิบูรณ์ศรีมารดาโจทก์นำเงินดังกล่าวไปทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ของนางอรยา ชาญชยศึก ในวันเดียวกับที่เปิดบัญชีเงินฝากตามเอกสารหมาย ล.4 ถึง ล.6 จึงมีอำนาจกระทำได้โดยชอบและนางวิบูรณ์ศรีมารดาโจทก์ก็ต้องผูกพันตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว แม้นางวิบูรณ์ศรีมารดาโจทก์จะยินยอมให้โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากตามสมุดคู่ฝากเอกสารหมาย จ.2 ร่วมด้วยในภายหลังก็ตาม เมื่อปรากฏว่านางอรยา ชาญชยศึกยังไม่ได้ชำระเงินกู้จำนวน 250,000 บาทให้จำเลย โจทก์ก็หามีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนเงินจำนวน 250,000 บาทในบัญชีเงินฝากตามสมุดคู่ฝากเอกสารหมาย จ.2 ได้ไม่”

พิพากษายืน

Share