คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3887/2526

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พ. ตายเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2520 ขณะดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของบริษัทโจทก์ กรรมการของบริษัททุกคนต่างก็ทราบดี ถือได้ว่าบริษัทโจทก์รู้ถึงความตายของ พ. ในวันนั้นเอง หากบริษัทโจทก์มีสิทธิเรียกร้องอย่างใดต่อ พ. ก็จะต้องฟ้องร้องเสียภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อได้รู้ถึงความตายของ พ. ตามป.พ.พ. ม.1754วรรคสาม เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์อันมีต่อ พ. เจ้ามรดกจึงขาดอายุความแล้ว ถึงแม้โจทก์เพิ่งทราบว่า พ. เป็นหนี้โจทก์ ก็หาเป็นเหตุให้อายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขยายออกไปไม่ จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ พ. จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ตามฎีกาของโจทก์มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเป็นข้อแรกว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์อันมีต่อนายพัฒน์ พัฒน์ตระกูลชัย เจ้ามรดกนั้นขาดอายุความแล้วหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายพัฒน์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2520 ในขณะที่ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของบริษัทโจทก์ กรรมการของบริษัทโจทก์ทุกคนต่างก็ทราบดี ย่อมถือได้ว่าบริษัทโจทก์รู้ถึงความตายของนายพัฒน์ในวันนั้นเอง หากบริษัทโจทก์มีสิทธิเรียกร้องอย่างหนึ่งอย่างใดต่อนายพัฒน์ก็จะต้องฟ้องร้องเสียภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อได้รู้ถึงความตายของนยพัฒน์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่รู้ถึงความตายของนายพัฒน์สิทธิเรียกร้องของโจทก์อันมีต่อนายพัฒน์เจ้ามรดกจึงขาดอายุความแล้ว ถึงแม้โจทก์เพิ่งทราบว่านายพัฒน์เป็นหนี้โจทก์ ก็หาเป็นเหตุให้อายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขยายออกไปไม่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายพัฒน์จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ดังที่โจทก์ฎีกา

คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า เงินจำนวน 139,117.37 บาท ที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับกิจการของสาขาบางลำภูในระหว่างที่นายพัฒน์เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์และเป็นผู้จัดการสาขาบางลำภูด้วย แต่สาขาบางลำภูเลิกกิจการไปตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2517 จำเลยที่ 2 เพิ่งเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการเมื่อเดือนเมษายน 2520 หลังจากนายพัฒน์ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีโอกาสที่จะรู้เห็นเกี่ยวกับกิจการสาขาบางลำภู ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายพัฒน์ให้เจ้าหน้าที่ทำบัญชีเงินสดสาขาบางลำภูไว้ตามเอกสารหมาย จ.14 ซึ่งแสดงรายการไว้ว่าในวันที่ 31 ธันวาคม 2517 นายพัฒน์นำเงินเข้าบัญชี 500,000 บาท และตั้งบัญชีเดินสะพัดให้นายพัฒน์เป็นเจ้าหนี้ 500,000 บาท แล้วโอนเงินจำนวนดังกล่าวไปสำนักงานใหญ่ในวันเดียวกัน และตั้งบัญชีสำนักงานใหญ่เป็นลูกหนี้ของสำนักงานสาขา 500,000 บาท เมื่อเปิดบัญชีเงินสดมียอดเงินสดคงเหลือตามบัญชี 142,875.67 บาท แต่มีเงินสดคงเหลืออยู่ในมือ 39,117.37 บาท นายสม วรรณประภา ผู้สอบบัญชีจึงปรับปรุงยอดบัญชีในงบทดลอง ลดยอดเงินที่นายพัฒน์นำเข้าบัญชีสาขาลงเหลือ 500,000 บาท โดยถือว่านายพัฒน์ถอนเงินไป 100,000 บาท เพื่อให้ยอดเงินสดคงเหลือของสาขาลดลง 100,000 บาท เหลือเพียง 42,875.67 บาท ขณะเดียวกันก็ตัดบัญชีเดินสะพัดที่ตั้งนายพัฒน์เป็นเจ้าหนี้ 500,000บาท แต่มิได้มีการแก้ไขปรับปรุงบัญชีของสาขาด้วย แม้จะปรับปรุงยอดบัญชีในงบทดลองแล้วยอดเงินสดคงเหลือของสาขาตามบัญชีกับเงินสดที่แท้จริงก็ยังต่างกันอยู่ 3,758.30 บาท เงินจำนวนนี้นายสมให้ตัดจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายโดยไม่มีใบสำคัญคู่จ่ายงบดุลของบริษัทโจทก์ ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2517 ซึ่งเป็นงบดุลรวมทั้งสำนักงานใหญ่และสาขาแสดงยอดเงินสดคงเหลือของสาขาจำนวน 39,117.37 บาท และแสดงยอดบัญชีเดินสะพัดที่ตั้งนายพัฒน์เป็นเจ้าหนี้จำนวน 400,000 บาท งบดุลในปีต่อ ๆ มาก็คงแสดงยอดบัญชีของสาขาเช่นเดียวกับงบดุลปี พ.ศ. 2517 และได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นตลอดมาทุกปี โดยเฉพาะงบดุลปี พ.ศ. 2520 ซึ่งจัดทำหลังจากนายพัฒน์ถึงแก่ความตายมีนายทวน ผาติหัตถกร ลงลายมือชื่อรับรองในฐานะเป็นกรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ 2 เข้ารับหน้าที่สืบต่อมา พอถึงต้นปี พ.ศ. 2521 ก็ถูกถอดถอนและนายทวนได้รับแต่งตั้งให้เข้ามาดำรงตำแหน่งแทนหลังจากนั้นจึงได้มีการรื้อฟื้นว่างบดุลของบริษัทโจทก์ปี พ.ศ. 2517 ทำไว้ไม่ถูกต้อง บัญชีเงินสดของสาขาที่ลงรายการไว้ว่าโอนเงินสดไปสำนักงานใหญ่ 500,000 บาท สำนักงานใหญ่มิได้ลงรายการรับเงินจำนวนนี้ และเงินสดคงเหลือ 39,117.37บาทก็ยังอยู่ที่นายพัฒน์ รวมเป็นเงินที่นายพัฒน์จะต้องรับผิดชอบ 539,117.37บาท เมื่อหักกลบลบหนี้กับบัญชีเดินสะพัดที่ตั้งนายพัฒน์เป็นเจ้าหนี้ 400,000บาทแล้ว นายพัฒน์ยังเป็นหนี้บริษัทโจทก์ 139,117.37 บาท ศาลฎีกาเห็นว่างบดุลของบริษัทโจทก์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 ถึง 2520 มีผู้สอบบัญชีและกรรมการบริษัทโจทก์ลงลายมือชื่อรับรองว่าถูกต้อง ทั้งได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นแล้ว จำเลยที่ 2 ซึ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการในภายหลังย่อมไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังได้ความตามที่จำเลยนำสืบโดยโจทก์ไม่มีพยานหักล้างว่า เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2520 จำเลยที่ 2 ได้รับมอบหมายจากนายพัฒน์ให้เป็นตัวแทนไปจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทโจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 850,000 บาท เงินที่จ่ายเอามาจากบริษัทโจทก์315,000 บาท และจากบัญชีส่วนตัวของนายพัฒน์ 525,000 บาท ซึ่งผู้ถือหุ้นทุกคนได้ลงลายมือชื่อผู้รับเงินไว้ตามเอกสารหมาย ล.1 เงินที่จ่ายจากบัญชีส่วนตัวของนายพัฒน์นั้นมีจำนวนใกล้เคียงกับเงินที่โอนมาจากสาขา แม้สำนักงานใหญ่จะมิได้ลงบัญชีรับเงินที่โอนมาก็น่าจะเป็นเพราะการลงบัญชีสับสนหรือมีบัญชีหลายชุดซึ่งไม่ประสงค์จะเปิดเผย ไม่มีเหตุผลอย่างใดที่นายพัฒน์จะออกเงินส่วนตัวจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นแทนที่จะส่งเงินเข้าบัญชีสำนักงานใหญ่ของบริษัทโจทก์เพื่อจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นโดยตรง ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 2 มิได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างหนึ่งอย่างใดทำให้โจทก์เสียหายอันจะต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ”

พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่านายความชั้นฎีกา 600 บาท แทนจำเลย

Share