คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3882/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้การก่อสร้างดัดแปลงอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ขออนุญาตในระหว่างวันที่21กุมภาพันธ์2535ถึงวันที่15มีนาคม2535ซึ่งอยู่ในระหว่างใช้กฎหมายเก่าก็ตามแต่ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร(ฉบับที่2)พ.ศ.2535มาตรา23ใช้บังคับตั้งแต่วันที่6มิถุนายน2535แก้ไขให้มีบทลงโทษตามมาตรา66ทวิและจำเลยได้ขัดคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้รื้อถอนอาคารก่อสร้างผิดแบบที่ขออนุญาตภายในกำหนด30วันหลังจากที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร(ฉบับที่2)พ.ศ.2535ใช้บังคับแล้วการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ.2522มาตรา42,66ทวิและมาตรา69พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร(ฉบับที่2)พ.ศ.2535มาตรา23หาใช่เป็นเรื่องการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดหรือกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของอาคารพักอาศัยชนิดคอนกรีตเสริมเหล็ก 1 หลัง ซึ่งได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามใบอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารดังกล่าวได้ เมื่อระหว่างวันที่ 21กุมภาพันธ์ 2535 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2535 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยดัดแปลงอาคารดังกล่าวผิดไปจากแบบแปลนที่ขออนุญาตซึ่งมิใช่เป็นการซ่อมแซมหรือดัดแปลงตามที่กำหนดในกฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2528) ทั้งนี้โดยจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของอาคารดังกล่าวไม่ได้รับใบอนุญาตให้ดัดแปลงจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ต่อมาเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2535 เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้จำเลยดำเนินการแก้ไขและให้ยื่นคำขอรับอนุญาตแบบแปลนอาคารให้ถูกต้องโดยกำหนดให้ดำเนินการภายใน 30 วัน แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังนั้น ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2536 เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ออกคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนส่วนที่ดัดแปลงภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่งจำเลยได้รับคำสั่งเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2536แต่จำเลยมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกำหนดจนกระทั่งบัดนี้ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 4, 42, 47 ทวิ, 69 และให้สั่งปรับจำเลยอีกวันละไม่เกิน30,000 บาท นับแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2536 จนถึงวันที่จำเลยได้รื้อถอน
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42, 47 ทวิ, 66 ทวิ, 69 จำคุก 4 เดือนปรับ 30,000 บาท และปรับอีกวันละ 150 บาท นับแต่วันที่ 15 มิถุนายน2536 จนถึงวันที่จำเลยได้รื้อถอนให้ถูกต้องตามคำสั่งของเจ้าหนักงานท้องถิ่น ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสามคงจำคุก 80 วัน ปรับ 20,000 บาท และปรับอีกวันละ 100 บาทนับแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2536 จนถึงวันที่จำเลยรื้อถอนให้ถูกต้องตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปีไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า มูลเหตุของการกระทำผิดเกิดขึ้นจากการก่อสร้างผิดแบบแปลน ระหว่างวันที่ 21 กุมภาพันธ์2535 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2535 อยู่ในระหว่างใช้กฎหมายเก่าซึ่งตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42ที่ยังไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น หากมีการฝ่าฝืนก็ไม่มีบทลงโทษทางอาญา และถ้าขัดขืนคำสั่งของเจ้าพนักงานให้รื้อถอน เจ้าพนักงานท้องถิ่นก็ไม่มีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน มีอำนาจแต่เพียงร้องต่อศาลให้รื้อถอนอาคารส่วนที่ไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น จำเลยจะต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ไม่อาจใช้กฎหมายย้อนหลังให้เป็นโทษแก่จำเลย เห็นว่า แม้จะได้ความว่าได้มีการก่อสร้างดัดแปลงอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ขออนุญาตในระหว่างวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2535 ซึ่งอยู่ในระหว่างใช้กฎหมายเก่าก็ตาม แต่ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 23ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2535 แก้ไขให้มีบทลงโทษตามมาตรา 66 ทวิ และข้อเท็จจริงก็ปรากฎว่าจำเลยได้ขัดคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้รื้อถอนอาคารก่อสร้างผิดแบบที่ขออนุญาตภายในกำหนด 30 วันหลังจากที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535ใช้บังคับแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42, 66 ทวิ และมาตรา 69 พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 23 หาใช่เป็นเรื่องการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดหรือกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดไม่ เจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน และโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share