แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้จำเลยจะทำการก่อสร้างดัดแปลงอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ขออนุญาตระหว่างวันที่21กุมภาพันธ์2535ถึงวันที่15มีนาคม2535ซึ่งอยู่ในระหว่างใช้กฎหมายเก่าก็ตามแต่ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร(ฉบับที่2)พ.ศ.2535มาตรา23ใช้บังคับตั้งแต่วันที่6มิถุนายน2535แก้ไขให้มีบทลงโทษตามมาตรา66ทวิเมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าจำเลยได้ขัดคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้รื้อถอนอาคารก่อสร้างผิดแบบที่ขออนุญาตภายในกำหนด30วันหลังจากที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร(ฉบับที่2)พ.ศ.2535ใช้บังคับแล้วการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ.2522มาตรา42,66ทวิ,69และพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร(ฉบับที่2)พ.ศ.2535มาตรา23หาใช่เป็นเรื่องการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดหรือกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดไม่เจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนและโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยดัดแปลงอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ขออนุญาต เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้จำเลยดำเนินการแก้ไขและให้ยื่นคำขอรับอนุญาตแบบแปลนอาคารให้ถูกต้อง แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 4, 42, 47 ทวิ, 66 ทวิ, 69 และให้สั่งปรับจำเลยอีกวันละไม่เกิน 30,000 บาท นับแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2536 จนถึงวันที่จำเลยได้รื้อถอน
จำเลย ให้การ ปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42, 47 ทวิ, 66 ทวิ69 จำคุก 4 เดือน ปรับ 30,000 บาท และปรับอีกวันละ 150 บาทนับแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2536 จนถึงวันที่จำเลยได้รื้อถอนให้ถูกต้องตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น การนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 80 วัน ปรับ 20,000 บาท และปรับอีกวันละ 100 บาท นับแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2536 จนถึงวันที่จำเลยรื้อถอนให้ถูกต้องตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า มูลเหตุของการกระทำผิดเกิดขึ้นจากการก่อสร้างผิดแบบแปลนระหว่างวันที่ 21 กุมภาพันธ์2535 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2535 อยู่ในระหว่างใช้กฎหมายเก่าซึ่งตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42 ที่ยังไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น หากมีการฝ่าฝืนก็ไม่มีบทลงโทษทางอาญาและถ้าขัดขืนคำสั่งของเจ้าพนักงานให้รื้อถอน เจ้าพนักงานท้องถิ่นก็ไม่มีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนมีอำนาจแต่เพียงร้องขอต่อศาลให้รื้อถอนอาคารส่วนที่ไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น จำเลยจะต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ ไม่อาจใช้กฎหมายย้อนหลังให้เป็นโทษแก่จำเลย เห็นว่าแม้จะได้ความว่าได้มีการก่อสร้างดัดแปลงอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ขออนุญาตในระหว่างวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2535 ซึ่งอยู่ในระหว่างใช้กฎหมายเก่าก็ตามแต่ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535มาตรา 23 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2535 แก้ไขให้มีบทลงโทษตามมาตรา 66 ทวิ และข้อเท็จจริงก็ปรากฎว่าจำเลยได้ขัดคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้รื้อถอนอาคารก่อสร้างผิดแบบที่ขออนุญาตภายในกำหนด 30 วัน หลังจากที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2535 ใช้บังคับแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42, 66 ทวิและมาตรา 69 พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535มาตรา 23 หาใช่เป็นเรื่องการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดหรือกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดไม่ เจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน และโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน