คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3880/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทัณฑ์บนเป็นหนังสือที่ลูกจ้างเป็นฝ่ายทำให้แก่นายจ้างไว้เองด้วยความสมัครใจ โดยมีคำรับรองว่าลูกจ้างจะไม่กระทำผิดซ้ำอีก นายจ้างจึงไม่มีอำนาจที่จะบังคับลูกจ้างให้ทำหนังสือทัณฑ์บนไว้แก่ตนได้ การที่นายจ้างทำหนังสือทัณฑ์บนขึ้น แต่ลูกจ้างไม่ยอมลงลายมือชื่อในหนังสือนั้น จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง เมื่อนายจ้างเลิกจ้างเพราะเหตุนี้จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ ๑ ของเดือน ต่อมาวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๓๑ จำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงานและคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่เป็นความจริง ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างชำระและค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เหตุที่เลิกจ้างเพราะโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของผู้บังคับบัญชา ซึ่งจำเลยได้ตักเตือนด้วยวาจาและเป็นหนังสือหลายครั้งแล้ว แต่โจทก์ยังเพิกเฉย ต่อมาวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๓๑ จึงได้ตักเตือนเป็นหนังสือ แต่โจทก์ไม่ยอมลงชื่อรับทราบคำเตือนและยังประพฤติตนเช่นเดิม จำเลยจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน ๙,๐๐๐ บาท ค่าจ้างค้างชำระเป็นเงิน ๑,๘๐๐ บาท และค่าล่วงเวลาเป็นเงิน ๑,๐๐๐ บาท ให้แก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าจำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำของจำเลย เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๒๙ ดำรงตำแหน่งพนักงานตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูล ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๓,๐๐๐ บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ ๑ ของเดือน ในระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย โจทก์กระทำผิดต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย โดยมาทำงานสายเป็นประจำและนอนหลับในเวลาทำงาน จำเลยจึงลงโทษโดยสั่งให้โจทก์ทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือ แต่โจทก์ไม่ยอมลงลายมือชื่อในหนังสือทัณฑ์บนซึ่งจำเลยจัดทำขึ้นตามเอกสารหมาย ล.๑ จำเลยถือว่าโจทก์ขัดคำสั่งของจำเลย ดังนั้นเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๓๑ จำเลยจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยอาศัยเหตุดังกล่าว ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการเลิกจ้างซึ่งนายจ้างไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างนั้นได้แก่การเลิกจ้างเพราะเหตุที่ลูกจ้างได้กระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ ในกรณีที่ลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย ลูกจ้างละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณ หรือลูกจ้างละทิ้งการงานไปเสีย เป็นต้น และเห็นว่าหนังสือทัณฑ์บนเป็นหนังสือที่ลูกจ้างเป็นฝ่ายทำให้แก่นายจ้างไว้เองด้วยความสมัครใจโดยมีคำรับรองว่าลูกจ้างจะไม่กระทำผิดซ้ำอีก นายจ้างจึงไม่อาจที่จะบังคับลูกจ้างให้ทำหนังสือทัณฑ์บนไว้แก่ตนได้ ดังนั้น การที่จำเลยจัดทำหนังสือทัณฑ์บนตามเอกสาร ล.๑ ขึ้น แต่โจทก์ไม่ยอมลงลายมือชื่อในหนังสือดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุนี้กรณีไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างเพราะเหตุที่โจทก์ได้กระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใด ตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเวลา ๔๒ วัน เป็นเงิน ๔,๒๐๐ บาท ให้แก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน ๔,๒๐๐ บาท ให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share