คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3879/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินที่จำเลยรับมาในฐานะเป็นผู้บริหารกิจการประกอบกิจการโรงงาน ทั้งจำเลยเป็นหุ้นส่วนกับโจทก์ร่วมประกอบกิจการนั้น โจทก์ร่วมจะมีสิทธิได้เงินดังกล่าวหรือไม่ เพียงใด ก็ต้องอาศัยสัญญาหุ้นส่วนที่มีต่อกันเท่านั้น การที่จำเลยไม่ส่งเงินดังกล่าวให้โจทก์ร่วมก็เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมจะเรียกร้องเอาแก่จำเลยในทางแพ่ง จึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ.มาตรา 352 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 กับให้จำเลยใช้เงินจำนวน 71,974 บาท คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายนิพนธ์ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก จำคุก 2 เดือน และปรับ 6,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือนต่อครั้ง เป็นเวลา 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 กับให้จำเลยใช้เงินจำนวน 71,974 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ร่วมและจำเลยเป็นหุ้นส่วนกันในการประกอบกิจการโรงงานทอผ้าไหมพรม โดยจำเลยเป็นผู้บริหารงานต่าง ๆ เช่น การจ้างคนงาน การรับงาน ส่งงาน วางบิล และเก็บเงิน เป็นต้น ก่อนเกิดเหตุคดีนี้บริษัทอาร์ท ออน สติทซ์ จำกัด ได้ว่าจ้างจำเลยทอเสื้อไหมพรมจำนวน 1,448 ตัว คิดเป็นเงินจำนวน 71,974 บาท จำเลยดำเนินการจนเสร็จได้ส่งมอบเสื้อไหมพรมและรับเงินจากบริษัทดังกล่าวเป็นเช็คเงินสดสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ จำเลยได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็คแล้วแต่ไม่ได้มอบเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ฐานยักยอกทรัพย์ซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า เงินจำนวน 71,974 บาท เป็นเงินที่จำเลยรับมาในฐานะเป็นผู้บริหารกิจการประกอบกิจการโรงงาน ทั้งจำเลยเป็นหุ้นส่วนกับโจทก์ร่วมประกอบกิจการโรงงานทอผ้าไหมพรมดังข้อเท็จจริงที่ฟังยุติ ดังนั้น โจทก์ร่วมจะมีสิทธิได้เงินดังกล่าวหรือไม่ เพียงใด ก็ต้องอาศัยสัญญาหุ้นส่วนที่มีต่อกันเท่านั้น การที่จำเลยไม่ส่งเงินดังกล่าวให้โจทก์ร่วมก็เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมจะเรียกร้องเอาแก่จำเลยในทางแพ่ง หามีมูลความผิดทางอาญาไม่ เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วปัญหาตามฎีกาจำเลยข้ออื่นจึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง.

Share