คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3877/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมมีข้อพิพาทกับจำเลยเกี่ยวกับที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2526 นอกจากนี้โจทก์ร่วมได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งตามคดีหมายเลขดำที่ 149/2542 ของศาลชั้นต้น แม้คดีดังกล่าวจะมีประเด็นว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยมิชอบอันเป็นการใช้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 มิได้มีประเด็นว่า โจทก์ร่วมถูกแย่งการครอบครองดังที่โจทก์ร่วมฎีกาก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทว่าผู้ใดเป็นผู้ครอบครองในที่ดินพิพาท ดังนั้น ในขณะเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยเชื่อโดยชอบว่า จำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองหรือเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยจึงไม่มีเจตนาบุกรุกที่ดินพิพาทหรือทำให้เสียทรัพย์ ส่วนที่ดินพิพาทจะเป็นของผู้ใดหรือผู้ใดเป็นผู้มีสิทธิครอบครองนั้นเป็นเรื่องทางแพ่ง จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 362, 365
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายสถิตย์ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 365 (3) ประกอบมาตรา 362 จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำให้เสียทรัพย์ จำคุก 6 เดือน และปรับ 4,000 บาท ฐานบุกรุกจำคุก 1 ปี และปรับ 6,000 บาท รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งในชั้นฎีกาฟังได้ว่า โจทก์ร่วมมีชื่อเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 325 ตำบลตำตัว อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา โจทก์ร่วมอ้างว่าเมื่อปี 2541 จำเลยกับพวกบุกรุกเข้ามาในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 325 ทางด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือ เนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 15 ตารางวา และตัดฟันต้นยางพาราที่โจทก์ร่วมปลูกไว้ 8 ต้น กับรื้อถอนท่อเหล็กที่โจทก์ร่วมใช้กั้นเป็นแนวเขตระหว่างที่ดินดังกล่าวกับที่ดินข้างเคียง
คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบยืนยันว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมาจนถึงปี 2541 จึงมีคดีพิพาทกับจำเลย แต่โจทก์ร่วมก็ได้เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า โจทก์ร่วมมีข้อพิพาทกับจำเลยเกี่ยวกับที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2526 นอกจากนี้โจทก์ร่วมก็ได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่ง ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 149/2542 ของศาลชั้นต้น แม้ว่าคดีดังกล่าวมีประเด็นว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยมิชอบอันเป็นการใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ว่าโจทก์ร่วมถูกแย่งการครอบครองดังที่โจทก์ร่วมฎีกาก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทว่าผู้ใดเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ซึ่งจำเลยก็อ้างว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยชอบมาตั้งแต่ปี 2513 จำเลยเป็นเจ้าของหรือผู้มีสิทธิครอบครองก่อนที่โจทก์ร่วมจะนำที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 325 ไปขอออกเอกสารสิทธิหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) ในโครงการเดินสำรวจตามประกาศกระทรวง แม้ว่าจำเลยไม่ได้นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 หรือ น.ส. 3 ก.) มาแสดงดังที่โจทก์ฎีกา แต่จำเลยก็อ้างว่าจำเลยมีพยานหลักฐานอื่นคือ หลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ของจำเลยตามแบบแสดงรายการที่ดิน ดังนั้น ในขณะที่เกิดเหตุคดีนี้จำเลยเชื่อโดยชอบว่า จำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองหรือเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยจึงไม่มีเจตนาบุกรุกที่ดินพิพาทหรือทำให้เสียทรัพย์ ส่วนที่ดินพิพาทจะเป็นของผู้ใดหรือผู้ใดมีสิทธิครอบครองนั้นเป็นเรื่องในทางแพ่ง จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ฎีกาโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share