คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3872/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลนัดสืบพยานจำเลยซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนโดยนัดแรกจำเลยขอให้ศาลไปเผชิญสืบที่พิพาทและศาลก็ได้ไปเผชิญสืบในวันที่จำเลยขอ ถือได้ว่าเป็นการสืบพยานและวันดังกล่าวเป็นวันสืบพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(10) ดังนั้นการที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และโจทก์ที่ 6 ร่วมไปเผชิญสืบที่พิพาทในวันดังกล่าวย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้มาศาลในวันสืบพยานตามมาตรา 197 วรรคสองแล้ว แม้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และโจทก์ที่ 6 จะไม่มาศาลในวันสืบพยานจำเลยนัดต่อมาก็ตามก็ไม่เป็นการขาดนัดพิจารณา

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ทั้งหกฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถนนแผงลอยและสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดิน และให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งหก จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้อง และพิพากษาให้ที่ดินของจำเลยทั้งสองส่วนที่ตั้งแผงลอยพ้นจากภารจำยอมในที่ดินของโจทก์ โจทก์ทั้งหกให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่ดินส่วนที่ตั้งแผงลอยของจำเลยทั้งสองยังเป็นภารจำยอมที่ยังใช้ประโยชน์อยู่ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณาในศาลชั้นต้น โจทก์ที่ 5 ขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองขอถอนฟ้องแย้งโจทก์ที่ 5 ศาลชั้นต้นอนุญาต
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และโจทก์ที่ 6 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และโจทก์ที่ 6ให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 1521 ส่วนที่ไม่ใช้และใช้ไม่ได้ตามรูปการที่กำหนดพ้นจากภารจำยอม
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และโจทก์ที่ 6 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และโจทก์ที่ 6 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ที่ 1ถึงที่ 4 และโจทก์ที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานจำเลยทั้งสองซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนครั้งแรกในวันที่30 พฤศจิกายน 2532 ถึงวันนัดจำเลยทั้งสองขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนคดีไปในวันที่ 12 และ วันที่ 24 มกราคม 2533 เมื่อถึงวันที่ 12 มกราคม 2533 จำเลยทั้งสองยื่นคำขอให้ศาลเผชิญสืบที่พิพาทก่อนที่จะนำพยานเข้าสืบ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนคดีไปโดยนัดเผชิญสืบที่พิพาทในวันที่ 24 มกราคม 2533 และนัดสืบพยานจำเลยเพิ่มอีกในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2533 และวันที่ 2 มีนาคม 2533ครั้นถึงวันนัดเผชิญสืบที่พิพาทคือ วันที่ 24 มกราคม 2533 จำเลยได้นำผู้พิพากษา โจทก์ที่ 1 ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และโจทก์ที่ 6 ไปเผชิญสืบที่พิพาท ต่อมาวันที่ 8 กุมภาพันธ์2533 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานจำเลย โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และโจทก์ที่ 6 ไม่มาศาล ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4และโจทก์ที่ 6 ขาดนัดพิจารณา แล้วให้พิจารณาคดีแล้วชี้ขาดตัดสินคดีนี้ไปฝ่ายเดียว คดีมีปัญหาวินิจฉัยในเบื้องแรกว่า โจทก์ที่ 1ถึงที่ 4 และโจทก์ที่ 6 ขาดนัดพิจารณาเพราะไม่มาศาลในวันสืบพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 197 วรรคสอง หรือไม่เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(10) บัญญัติว่า “วันสืบพยาน หมายความว่า วันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยาน”และ มาตรา 102 วรรคแรก บัญญัติว่า “ให้ศาลที่พิจารณาคดีเป็นผู้สืบพยานหลักฐานโดยจะสืบในศาลหรือนอกศาล ณ ที่ใด ๆ ก็ได้ แล้วแต่ศาลจะสั่งตามที่เห็นสมควรตามความจำเป็นแห่งสภาพของพยานหลักฐานนั้น” การที่จำเลยขอให้ศาลไปเผชิญสืบที่พิพาท และศาลก็ได้ไปเผชิญสืบในวันที่ 24 มกราคม 2533 ตามที่จำเลยขอ ถือได้ว่าเป็นการสืบพยานและวันดังกล่าวเป็นวันสืบพยานตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว ดังนั้นการที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และโจทก์ที่ 6 ร่วมไปเผชิญสืบที่พิพาทในวันดังกล่าวย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้มาศาลในวันสืบพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 197 วรรคสองแล้ว แม้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และโจทก์ที่ 6 จะไม่มาศาลในวันที่8 กุมภาพันธ์ 2533 ซึ่งเป็นวันสืบพยานจำเลยนัดต่อมาก็ตามก็ไม่เป็นการขาดนัดพิจารณาแต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ที่ 1ถึงที่ 4 และโจทก์ที่ 6 ขาดนัดพิจารณาแล้วสืบพยานจำเลยต่อไป โดยมิได้สืบพยานฝ่ายโจทก์ เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาศาลฎีกาเห็นว่ามีเหตุอันสมควรที่จะเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่มิชอบดังกล่าวเสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(2)ประกอบด้วยมาตรา 247 ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และโจทก์ที่ 6″
พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และโจทก์ที่ 6 ขาดนัดพิจารณาและกระบวนพิจารณาภายหลังจากนั้นทั้งหมดกับให้ยกคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share