แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ตกลงแบ่งขายที่ดินของโจทก์ตาม น.ส.3 ก.เลขที่ 53 จำนวน 7 ไร่ ซึ่งเป็นที่พิพาทในคดีนี้ให้แก่ ส.แต่ยังไม่ทันได้รับมอบการครอบครองที่พิพาทจากโจทก์ตามสัญญา ซื้อขายดังกล่าว ส. ถึงแก่กรรมเสียก่อน แม้สิทธิตามสัญญาซื้อขายที่พิพาทจะเป็นมรดกตกทอดไปยังทายาทหรือผู้จัดการ มรดกของ ส. ก็ตาม แต่ก็จะต้องว่ากล่าวเป็นกรณีต่างหากอีกกรณีหนึ่ง ส่วนสิทธิครอบครองที่พิพาทย่อมยังคงเป็น ของโจทก์อยู่ โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยกับบริวารให้รื้อถอนเสาพร้อมสาย รั้วลวดหนามที่กั้นออกไปจากที่พิพาทซึ่งโจทก์อ้างว่าตนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง จำเลยให้การต่อสู้และฟ้องแย้งว่าเดิมที่พิพาทเป็นของโจทก์ โจทก์ขายให้ ส.ต่อมาก่อนส.ถึงแก่กรรมได้ยกที่พิพาทให้แก่จำเลยครอบครองและทำประโยชน์เรื่อยมาตามคำให้การของจำเลยมิได้อ้างว่าจำเลย แย่งการครอบครองที่พิพาทจากโจทก์จำเลยจึงไม่อาจอ้างสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ได้ เพราะการ แย่งการครอบครองจะเกิดมีขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่น เท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นเรื่องการแย่งการครอบครองเป็นประเด็นข้อพิพาทด้วย จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาย่อมไม่รับวินิจฉัยประเด็นข้อนี้ตามที่จำเลยฎีกา โจทก์เป็นสามี ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์อ้างว่าจำเลยบุกรุกทำละเมิดต่อโจทก์ และฟ้องเรียกค่าเสียหาย ที่จำเลยก่อให้เกิดความเสียหายในที่ดินโจทก์เมื่อไม่เข้ากรณีหนึ่งกรณีใดตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1476 วรรคหนึ่ง ระบุไว้ในอนุมาตรา 1 ถึงอนุมาตรา 8และในวรรคสองได้ระบุว่าการจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย ฉะนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากภริยา จำเลยบุกรุกที่ดินโจทก์โดยการนำรถแทรกเตอร์ไถแล้วปรับสภาพดินกับยังไม่ได้ล้อมรั้วรอบที่พิพาท อันถือได้ว่าเป็นการรบกวนการครอบครองในอันที่โจทก์จะเข้าไปทำประโยชน์ ในที่พิพาท และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายศาลย่อมใช้ ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายให้เองได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของและผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 53เนื้อที่ดิน 17 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา เมื่อประมาณต้นเดือนตุลาคม 2537 จำเลยและบริวารได้ร่วมกันบุกรุกที่ดินโจทก์ทางด้านทิศใต้ โดยใช้รถไถไถหน้าดินและนำต้นมะพร้าวประมาณ100 ต้น เข้าปลูกในที่ดิน ร่วมกันปักเสาไม้ใช้ลวดหนามกั้นที่ดินกินเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ เป็นเหตุให้พืชไม้ล้มลุกและพืชไร่ของโจทก์เสียหายเป็นเงินประมาณ 10,000 บาท ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์และห้ามจำเลยรวมทั้งบริวารบุกรุกเข้าไปในที่ดิน ให้จำเลยรื้อถอนเสาพร้อมสายรั้วลวดหนามที่กั้นในที่ดินพิพาท หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอน โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย และให้จำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 10,000 บาท
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2525 โจทก์ได้แบ่งขายที่ดินตามฟ้องตามแผนที่สังเขปท้ายคำให้การเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ ให้แก่นายสุกรี เจ๊ะอาหลี และส่งมอบสิทธิในที่ดินให้แก่นายสุกรีเข้าครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาต่อมาประมาณปี 2526 นายสุกรียกให้และส่งมอบสิทธิในที่ดินดังกล่าวแก่จำเลย จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของโดยสงบและเปิดเผยตลอดมา โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน เมื่อเดือนมกราคม 2537 จำเลยทำการปลูกสร้างรั้วรอบที่ดินจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของโดยสงบเปิดเผย เป็นระยะเวลาประมาณ 10 ปี โจทก์มิได้คัดค้านหรือฟ้องร้องภายในระยะเวลา 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความโจทก์มิได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินโจทก์จึงไม่เสียหายจำเลยบอกกล่าวให้โจทก์ไปดำเนินการแบ่งแยกเอกสารสิทธิหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ในที่ดินของจำเลยแก่จำเลย แต่โจทก์เพิกเฉย ขอให้ยกฟ้องโจทก์และพิพากษาว่าที่ดินทางด้านทิศใต้ของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 53 เนื้อที่ดินด้านทิศใต้กว้าง 31.5 วาทิศเหนือกว้าง 31.5 วา ทิศตะวันออกยาว 100 วา ทิศตะวันตกยาว 94.5 วา เนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ ตามเส้นสีแดงตามแผนที่สังเขปท้ายคำให้การเป็นของจำเลย ห้ามโจทก์และบริวารเกี่ยวข้องให้โจทก์ดำเนินการแบ่งแยกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 53 ด้านทิศใต้ของที่ดินมีอาณาเขตทิศใต้กว้าง 31.5 วา ทิศเหนือกว้าง 31.5 วา ทิศตะวันออกยาว 100 วา ทิศตะวันตกยาว 94.5 วา แล้วจดทะเบียนแก่จำเลยเป็นผู้รับสัญญา หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งยืนยันตามคำฟ้องของโจทก์และให้การแก้ฟ้องแย้งเพิ่มเติมขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทตามฟ้องเป็นของโจทก์ห้ามจำเลยและบริวารบุกรุกเข้าไปในที่ดิน ให้จำเลยรื้อถอนเสาพร้อมสายรั้วลวดหนามที่กั้นในที่ดินพิพาทออกไป และให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่าคดีมีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่พิพาทมีเนื้อที่ 7 ไร่ 2 งาน 63 ตารางวา อยู่ภายในกรอบเส้นสีเขียวตามแผนที่พิพาทกลางที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 53 มีเนื้อที่ 17 ไร่3 งาน 20 ตารางวา ซึ่งมีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของ
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า ที่พิพาทโจทก์หรือจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ปัญหาดังกล่าวเห็นว่าข้อนำสืบตลอดจนพยานหลักฐานของจำเลยสมเหตุผลและมีน้ำหนักน่าเชื่อกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ เพราะโจทก์เบิกความอ้างลอย ๆพฤติการณ์มีเหตุผลเชื่อได้ว่าโจทก์ได้ตกลงแบ่งขายที่ดินของโจทก์ตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 53 ให้แก่นายสุกรี จำนวน 7 ไร่ซึ่งเป็นที่พิพาทในคดีนี้ และรูปคดีมีเหตุผลเชื่อได้ว่านายสุกรียังไม่ได้รับมอบการครอบครองที่พิพาทไปจากโจทก์ตามสัญญาซื้อขายดังกล่าว คงฟังได้แต่เพียงว่านายสุกรี ได้ซื้อที่พิพาทจากโจทก์จริง เมื่อนายสุกรีถึงแก่กรรม สิทธิตามสัญญาซื้อขายที่พิพาทย่อมเป็นมรดกตกทอดไปยังทายาทหรือผู้จัดการมรดกของนายสุกรีซึ่งจะต้องว่ากล่าวเป็นกรณีต่างหากอีกกรณีหนึ่ง ส่วนสิทธิครอบครองที่พิพาทยังคงเป็นของโจทก์อยู่
ส่วนประเด็นเกี่ยวกับที่จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์มิได้ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองเกิน 1 ปี นับแต่ถูกจำเลยแย่งการครอบครองนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยกับบริวารให้รื้อถอนเสาพร้อมสายรั้วลวดหนามที่กั้นออกไปจากที่พิพาทซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง จำเลยให้การต่อสู้และฟ้องแย้งว่าเดิมที่พิพาทเป็นของโจทก์ ต่อมาขายให้นายสุกรี ก่อนนายสุกรีถึงแก่กรรมได้ยกที่พิพาทให้แก่จำเลยครอบครองและทำประโยชน์เรื่อยมา ดังนี้ตามคำให้การของจำเลยดังกล่าว จำเลยมิได้อ้างว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่พิพาทจากโจทก์ จึงไม่อาจอ้างสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ได้เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดมีขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทนี้ด้วยนั้น เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยประเด็นข้อนี้
ส่วนข้อฎีกาของจำเลยที่ว่าโจทก์ไม่ได้รับความยินยอมจากภริยาจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์ โดยอ้างว่าจำเลยบุกรุกทำละเมิดต่อโจทก์และฟ้องเรียกค่าเสียหายที่จำเลยก่อให้เกิดความเสียหายในที่ดินโจทก์จึงไม่เข้ากรณีหนึ่งกรณีใดตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 วรรคหนึ่งระบุไว้ในอนุมาตรา 1 ถึงอนุมาตรา 8 แต่ประการใด และในวรรคสองได้ระบุว่าการจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายฉะนั้นโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากภริยา
สำหรับค่าเสียหายของโจทก์ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏถึงความเสียหายที่โจทก์จะได้รับว่ามีเพียงใดนั้นเห็นว่า แม้โจทก์ไม่นำสืบให้เห็นว่าค่าเสียหายที่แท้จริงมีเพียงใด แต่เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยบุกรุกที่ดินโจทก์โดยการนำรถแทร็กเตอร์ไถแล้วปรับสภาพดินกับยังไม่ได้ล้อมรั้วรอบที่พิพาท อันถือได้ว่าเป็นการรบกวนการครอบครองในอันที่โจทก์จะเข้าไปทำประโยชน์ในที่พิพาท และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ศาลย่อมใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายให้เองได้และเห็นว่าค่าเสียหายที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยชดใช้ให้โจทก์เป็นจำนวนที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว
พิพากษายืน