คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3867/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายว่าที่ดินของโจทก์ตกอยู่ในที่ล้อมของที่ดินแปลงอื่น ทั้งยังบรรยายว่าที่ดินที่มีทางภารจำยอมนั้นเป็นที่ดินมรดกซึ่งยังมิได้แบ่งปันกันถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์มิได้ตั้งประเด็นว่าที่ดินของโจทก์ตกอยู่ในที่ล้อมของที่ดินแปลงอื่นจนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ ทั้งในชั้นชี้สองสถานก็ได้กำหนดประเด็นไว้ว่ามีทางภารจำยอมหรือไม่ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเป็นทางจำเป็นและให้เปิดทางจำเป็น จึงเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดนอกฟ้องนอกประเด็น
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เปิดทางจำเป็น และยกฟ้องในคำขอข้ออื่น ถือได้ว่าศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเกี่ยวกับทางภารจำยอมแล้ว เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น และมิได้โต้แย้งไว้ในคำแก้อุทธรณ์ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับทางภารจำยอมจึงถึงที่สุด โจทก์จะรื้อฟื้นฎีกาขอให้เปิดทางภารจำยอมอีกหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีที่นา 1 แปลงโดยรับมรดกมาจากบิดามารดา บิดามารดาของโจทก์และจำเลยได้ทำทางจากที่ดินแปลงนี้ออกสู่ทางสาธารณะโดยผ่านที่ดินอีกแปลงหนึ่งของบิดามารดา โจทก์ใช้ทางนี้มา 30 ปีเศษแล้ว และไม่มีทางอื่นที่จะเข้าถึงนาโจทก์ได้ ที่ดินแปลงหลังนี้ยังเป็นที่ดินมรดกซึ่งมิได้แบ่ง จำเลยได้ขอออกน.ส.3 เป็นชื่อของจำเลยโดยมิได้แจ้งให้พี่น้องทราบ ต่อมาจำเลยได้ปลูกข้าวปิดทางดังกล่าวทำให้โจทก์เข้าไปเกี่ยวข้าวในที่นาของโจทก์ไม่ได้ ขอให้พิพากษาว่าทางที่โจทก์ฟ้องเป็นทางภารจำยอม ให้จำเลยเปิดทางให้โจทก์เข้าไปทำประโยชน์ในที่นาของโจทก์ได้

จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินจำเลยที่โจทก์ขอให้เปิดทางนั้นเป็นที่ดินที่บิดามารดาของโจทก์และจำเลยให้นางทองคำไปแล้ว ต่อมานางทองคำขายให้จำเลย จำเลยครอบครองในฐานะเป็นเจ้าของตลอดมา ขณะที่บิดามารดายังมีชีวิตอยู่ไม่เคยเปิดทางผ่านที่ดินจำเลย โจทก์มีทางอื่นที่จะเข้าสู่ที่ดินโจทก์ได้ ขอให้พิพากษายกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า มีทางเกวียนผ่านที่นาจำเลยซึ่งมิใช่ทางภารจำยอมแต่เป็นทางจำเป็น จึงให้จำเลยเปิดทางให้โจทก์ผ่านเข้าออกในฤดูปักดำนาและเก็บเกี่ยวตามธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาขอให้เปิดทางจำเป็น เพราะมีทางเกวียนผ่านที่นาตาม น.ส.3 เลขที่ 285 มาตั้งแต่ครั้งบิดามารดาของโจทก์และจำเลยที่ 2 ยังมีชีวิตอยู่นั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าเมื่อบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ได้เปิดทางจากทางสาธารณะเส้นใหญ่ตามแผนที่ท้ายฟ้องหมายเลข 1 ให้บุตรทุกคนใช้เกวียนเดินเข้าออกทำนาโจทก์ได้ โจทก์ใช้ทางเส้นนี้เดินเข้าออกที่นามาเป็นเวลา 30 ปีเศษแล้ว ทางเส้นนี้ตกอยู่ในภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ที่ใช้ทางนี้เข้าไปทำนาโจทก์ได้ กับอีกตอนหนึ่งว่า จำเลยทั้งสองได้ที่ดินตามแผนที่ท้ายฟ้องหมายเลข 1 มาเป็นของตนโดยบิดามารดาโจทก์จำเลยยังไม่ได้แบ่งให้กับผู้ใด ให้บุตรทุกคนผลัดเปลี่ยนกันทำเรื่อยมา พอถึงเวรจำเลยทำจำเลยได้ออก น.ส.3 ทางอากาศเป็นชื่อจำเลย ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์จึงมิได้บรรยายว่าที่ดินของโจทก์ตกอยู่ในที่ล้อมของที่ดินแปลงอื่น ทั้งโจทก์ยังบรรยายฟ้องว่าที่ดิน แปลงที่มีทางภารจำยอมนั้นเป็นที่ดินมรดกของบิดามารดาซึ่งยังมิได้แบ่งปันกัน ถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์มิได้ตั้งประเด็นที่ว่าที่ดินของโจทก์ตกอยู่ในที่ล้อมของที่ดินแปลงอื่น จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ ทั้งในชั้นชี้สองสถานก็ได้กำหนดประเด็นไว้โดยแจ้งชัดว่ามีทางภารจำยอมหรือไม่ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเป็นทางจำเป็นและให้เปิดทางจำเป็นจึงเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดนอกฟ้องนอกประเด็นศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย

ที่โจทก์ฎีกาขอให้เปิดทางภารจำยอมนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วว่ามีทางผ่านที่ดินนาตาม ส.ค.1 เลขที่ 285 แต่มิใช่ทางภารจำยอม จึงพิพากษาให้เปิดทางจำเป็น และยกฟ้องในคำขอข้ออื่นถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับทางภารจำยอมแล้ว เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น และมิได้โต้แย้งไว้ในคำแก้อุทธรณ์ว่าทางพิพาทเป็นทางภารจำยอม คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับทางภารจำยอมจึงถึงที่สุด โจทก์จะรื้อฟื้นฎีกาขอให้เปิดทางภารจำยอมอีกหาได้ไม่

พิพากษายืนในผล

Share