แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจได้เลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2533 ก่อนที่พระราชบัญญัติ พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 จะมีผลใช้บังคับสิทธิและหน้าที่ที่จะพึงมีตามกฎหมายในการเลิกจ้างโจทก์รวมทั้งการดำเนินการตามสิทธิที่จะเกิดขึ้นจากการเลิกจ้างนั้น จะต้องพิจารณาตามบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่เลิกจ้าง จึงนำพระราชบัญญัติ พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาใช้บังคับแก่กรณีของโจทก์ไม่ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลแรงงานได้โดยไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนหรือวิธีการอย่างใดก่อน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างเหตุว่า โจทก์ร่วมกันลักลอบนำสุราขาวออกนอกโรงงานสุราอยุธยา โดยเป็นตัวกลางในการรับซื้อน้ำสุราที่ลักลอบนำออกจากโรงงานซึ่งไม่เป็นความจริง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในอัตราค่าจ้างเดิมพร้อมสวัสดิการและนับอายุงานต่อเนื่อง และให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 3,670 บาท นับแต่วันที่จำเลยเลิกจ้างจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม และถ้าจำเลยไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ขอให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 40,000 บาท ค่าชดเชยเป็นเงิน 22,020 บาทสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 5,260 บาท เงินบำเหน็จเป็นเงิน 36,000 บาท ค่าเสียหายในระหว่างพักงานเท่ากับค่าจ้างเป็นเงิน 44,040 บาท และให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสกรณีปกติเป็นเงิน55,050 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลางเพราะตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องและค่าเสียหายตามกฎหมายเดิมคือพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน2515 ฉะนั้น เมื่อมีกฎหมายใหม่บัญญัติออกมาใช้เพิ่มเติมโจทก์จึงไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้องดังกล่าวเพราะไม่มีกฎหมายมารองรับสิทธิของโจทก์ การที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเป็นการไม่ดำเนินการให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด คือ ตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาตรา 18 ได้กำหนดขั้นตอนกรณีของโจทก์ว่าต้องดำเนินการอย่างไร แต่โจทก์ไม่ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง การที่โจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะโจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงโดยทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดอาญา โดยเจตนาแก่นายจ้าง และจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 3,360 บาท โจทก์มีอำนาจฟ้อง ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ร่วมกับพวกลักลอบนำสุราขาวออกจากโรงงานของจำเลยหรือเป็นตัวการในการรับซื้อและนำสุราขาวของจำเลยไปจำหน่ายเป็นประโยชน์ส่วนตนและพวก การเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับขณะที่เลิกจ้างพร้อมสวัสดิการเดิม โดยให้นับอายุงานต่อเนื่อง และให้จำเลยชำระค่าจ้างในระหว่างที่จำเลยสั่งพักงานโจทก์จนถึงเวลาที่จำเลยเลิกจ้างและเงินโบนัส คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์มิได้ดำเนินการร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ตามพระราชบัญญัติ พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาตรา 18(2)ก่อน จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า กรณีของโจทก์นั้นข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลแรงงานกลางฟังมาว่า จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2533 ก่อนที่พระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 จะมีผลใช้บังคับ ดังนั้น สิทธิและหน้าที่ที่จะพึงมีตามกฎหมายในการเลิกจ้างโจทก์รวมทั้งการดำเนินการตามสิทธิที่จะเกิดขึ้นจากการเลิกจ้างดังกล่าวนั้นจะต้องพิจารณาตามบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการเลิกจ้าง จะนำพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาใช้บังคับแก่กรณีของโจทก์ไม่ได้ในกรณีของโจทก์สิทธิต่าง ๆ ที่เรียกร้องมาตามคำฟ้องนั้นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นไม่มีบทบัญญัติให้โจทก์จะต้องร้องทุกข์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้แต่อย่างใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางได้โดยไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนหรือวิธีการอย่างใดก่อน ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลของคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง”
พิพากษายืน