แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้ร้องเป็นสามีจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ยังมีชีวิตอยู่ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิ์ยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่แทนจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขั้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 6 (4)
พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาคดีใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 13 (2) เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับสำหรับในชั้นพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ มิได้นำมาใช้ในชั้นไต่สวนคำร้องว่าคดีมีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่หรือไม่ การมีคำสั่งว่าคำร้องของผู้ร้องมีมูลพอที่จะรื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่หรือไม่จึงเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกาพิพากษาว่านางดวงพร จำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ ย.9362/2545 มีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 รวม 2 กระทง ให้จำคุก 7 ปี 4 เดือน ผู้ร้องซึ่งเป็นสามีของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่อ้างว่า จำเลยที่ 1 และนางสาวอ่อนจันทร์ จำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวกับผู้ร้องเบิกความอันเป็นเท็จต่อศาลชั้นต้นตามคำแนะนำของทนายจำเลยเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุก
ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องแล้ววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 เห็นสมควรไม่รับคำร้อง ให้ส่งคำร้องพร้อมสำนวนคดีนี้ไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่งต่อไป
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา คดีถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องยื่นคำร้องขอตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 13 (2) ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาและทำความเห็นส่งสำนวนไปศาลฎีกา จึงให้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อดำเนินการต่อไป
ศาลชั้นต้นส่งคำร้องพร้อมสำนวนมายังศาลฎีกาเพื่อพิจารณา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 6 (4) บัญญัติว่า ผู้บุพการี, ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาของบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดซึ่งถึงแก่ความตายก่อนที่จะมีการยื่นคำร้องเป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ได้ ผู้ร้องเป็นสามีจำเลยที่ 1 แต่ตามคำร้องของผู้ร้องปรากฏว่าปัจจุบันจำเลยที่ 1 ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้นผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่แทนจำเลยที่ 1 ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ปฏิเสธที่จะมีคำสั่งว่าคำร้องของผู้ร้องมีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่หรือไม่ โดยอ้างพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 13 (2) และให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องมาให้ศาลฎีกาสั่งนั้น เห็นว่า มิชอบด้วยมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติฉบับนี้เพราะการสั่งคำร้องดังกล่าวเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ ส่วนมาตรา 13 (2) เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับสำหรับในชั้นพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ มิได้นำมาใช้ในชั้นไต่สวนคำร้องว่าคดีมีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่หรือไม่ อย่างไรก็ตามเมื่อคดีนี้ได้ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว และปัญหาเรื่องบุคคลผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจสั่งยกคำร้องขอของผู้ร้องได้ โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์สั่งใหม่ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าคำร้องขอของผู้ร้องชอบด้วยมาตรา 5 ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวหรือไม่”
พิพากษาให้ยกคำร้องของของผู้ร้อง