คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3863/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 จำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 4,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุก 3 ปีศาลอุทธรณ์ลงโทษตาม มาตรา 297(8) จำคุก 2 ปีให้รอการลงโทษจำคุก 5 ปี เป็นการแก้บทลงโทษและกำหนดโทษแม้จะเป็นการแก้ไขมาก แต่การที่ศาลทั้งสองรอการลงโทษจำคุกถือไม่ได้ว่าศาลทั้งสองได้พิพากษา ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 1 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219
จำเลยเมาสุราได้ยิงปืนนัดแรกที่ห้องพักนัดที่สองยิงขึ้นฟ้าแล้วลดปืนลงกระสุนปืนนัดที่สามก็ลั่นถูกผู้เสียหายที่เอวเมื่อเป็นปืนลูกโม่ที่การยิงจะต้องเหนี่ยวไกทีละนัดกระสุนปืนนัดที่สามจึงลั่นเพราะเจตนาจะยิงแต่เป็นขณะเมาสุราไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนไม่มีเหตุเพียงพอจะคิดฆ่าทั้งมิได้จ้องยิงตามปกติและในขณะอยู่ห่างกัน 2 เมตร ผู้เสียหายต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล 30 วันจำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(8) มิใช่เป็นความผิดตามมาตรา 300

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300 จำคุก 1 ปี 4 เดือน ปรับ 4,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 3 ปีของกลางคืนเจ้าของ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 287(8) จำคุก 2 ปี จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย ให้รอการลงโทษไว้ 5 ปีริบปืนและปอกกระสุนปืน จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ประกอบด้วยมาตรา 78 ให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 1 ปี 4 เดือน และปรับ 4,000 บาท แต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด3 ปี คำขอริบของกลางให้ยก ของกลางคืนเจ้าของ ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(8) ประกอบด้วยมาตรา 78 ให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 2 ปี แต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 5 ปี อาวุธปืนและปลอกกระสุนปืน 1 ปลอก ที่ใช้ยิงผู้เสียหายให้ริบ ของกลางนอกจากนี้ให้คืนเจ้าของ เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้บทลงโทษและกำหนดโทษที่ศาลชั้นต้นวางมา แม้จะเป็นการแก้ไขมาก แต่การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้นั้น ถือไม่ได้ว่าศาลทั้งสองได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเกินหนึ่งปี คดีของโจทก์จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2518 มาตรา 6 ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงให้ไม่ได้คดีของจำเลยคงเหลือแต่ปัญหาข้อกฎหมาย และในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้น ศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริง คดีนี้ว่าในวันเกิดเหตุจำเลยเมาสุราได้ยิงปืน3 นัด นัดแรกจำเลยยิงที่ห้องพักจำเลย นัดที่สองยิงขึ้นฟ้า แล้วลดปืนลง หลังจากกระสุนปืนลั่น 1 อึดใจกระสุนปืนนัดที่สามจึงลั่นถูกผู้เสียหายที่เอวด้านขวาค่อนไปทางด้านหลัง ศาลอุทธรณ์เห็นว่าอาวุธปืนที่จำเลยยิงเป็นปืนลูกโม่ การยิงจะต้องเหนี่ยวไกที่ละนัด จึงเป็นไปไม่ได้ที่กระสุนปืนนัดที่สองและนัดที่สามลั่นขึ้นโดยจำเลยเหนี่ยวไกเพียงครั้งเดียว กระสุนปืนนัดที่สามจึงลั่นขึ้นเพราะจำเลยเจตนาจะยิง แต่จำเลยยิงในขณะที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมึนเมาสุรา จำเลยไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้เสียหายมาก่อนไม่มีเหตุเพียงพอจะคิดฆ่าผู้เสียหาย ใช้ปืนยิงไปทางผู้เสียหายโดยมิได้จ้องยิงตามปกติ ในขณะที่อยู่ห่างผู้เสียหายประมาณ 2 เมตร ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาดังกล่าวสรุปได้ว่าศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้เสียหายโดยเจตนา แต่จำเลยมิได้มีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืนที่จำเลยยิงตามรายงานชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้อง ซึ่งปรากฏว่าผู้เสียหายต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลถึง 30 วัน จึงเป็นกรณีที่ผู้เสียหายต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วันหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(8) มิใช่เป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ได้หรือไม่ ดังที่จำเลยฎีกาขึ้นมา”

Share