แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยแก้ฎีกาอ้างข้อเท็จจริงว่าคุ้นเคยสนิทสนมกับ ฉ. และได้โทรศัพท์ขอบคุณ ฉ. ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยไม่ได้นำสืบในชั้นพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และที่จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำแก้ฎีกา ก็ไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
เงินที่ ฉ. บิดาของโจทก์โอนเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยมีจำนวนมากถึง 13,500,000 บาท ไม่ใช่จำนวนเล็กน้อยที่ ฉ. จะยกให้แก่จำเลยถึงกึ่งหนึ่งโดยเสน่หา ทั้งจำเลยไม่เคยโทรศัพท์ติดต่อขอเงินจาก ฉ. แม้ ฉ. จะเป็นบิดาของโจทก์แต่ก็หาเป็นข้อระแวงว่าจะเบิกความช่วยเหลือโจทก์ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยไม่ ดังนั้นเงินจำนวนดังกล่าวที่ ฉ. โอนเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยเป็นเงินที่ ฉ. ให้โจทก์โดยเสน่หาอันเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ เมื่อนำเงินดังกล่าวไปซื้อที่ดินและอาคารพิพาท เช่นนี้ ที่ดินและอาคารพิพาทจึงเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1472 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ตกลงให้จำเลยจดทะเบียนซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาทร่วมกัน และให้ใส่ชื่อโจทก์และจำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวม จึงเป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินในระหว่างเป็นสามีภริยา ซึ่งโจทก์มีสิทธิบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากัน หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469
การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ในระหว่างที่โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากันอยู่ ถือว่าเป็นการบอกล้างภายในกำหนดตามกฎหมายข้างต้น โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่ให้โจทก์และจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม
อนึ่ง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประการหนึ่งตามตาราง 7 ท้าย ป.วิ.พ. ศาลชั้นต้นมิได้กำหนด ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดให้ชัดแจ้ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 6766 และเลขที่ 6767 คืนโจทก์ โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมค่าใช้จ่ายในการโอนทั้งสิ้น หากจำเลยเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 6766 และเลขที่ 6767 คืนให้แก่โจทก์ โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมการโอนทั้งหมด หากจำเลยไม่ไปดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 6766 และเลขที่ 6767 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง โดยให้โจทก์และจำเลยแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวกันเองก่อน เมื่อไม่สามารถแบ่งได้ให้ประมูลราคาระหว่างกันเอง ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาด ได้เงินสุทธิเท่าใดให้แบ่งกันคนละครึ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่ได้โต้แย้งคัดค้านว่า โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากันชอบด้วยกฎหมาย โดยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2546 ขณะจดทะเบียนสมรสโจทก์และจำเลยอายุ 29 ปี และ 41 ปี ตามลำดับ และทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลสกลนคร โดยโจทก์เป็นวิสัญญีแพทย์มารับราชการที่โรงพยาบาลสกลนครตั้งแต่ปี 2542 จำเลยเป็นแพทย์ประจำสูตินรีเวชและวางแผนที่โรงพยาบาลสกลนครตั้งแต่ปี 2537 จำเลยเปิดคลินิกก่อนสมรสประมาณ 10 ปี โดยเช่าอาคารของบุคคลอื่น เมื่อสมรสแล้วโจทก์ร่วมกับจำเลยทำคลินิกดังกล่าว ต่อมาโจทก์ประสงค์จะมีอาคารเป็นของตนเองจึงดำเนินการหาที่ดินและอาคารจนพบที่ดินและอาคารพิพาทคดีนี้ซึ่งเป็นร้านขายและซ่อมรถจักรยานยนต์ของชาญมอเตอร์ โจทก์ได้ติดต่อขอซื้อจากนางกรรณิกา ซึ่งเป็นตัวแทนและน้องสาวของนางสาวกมล เจ้าของที่ดินและอาคาร นางกรรณิกาบอกขายในราคา 13,500,000 บาท โจทก์ติดต่อนายเฉลิมชัย ซึ่งเป็นบิดาให้โอนเงินจำนวนดังกล่าวซึ่งเป็นของนายเฉลิมชัยเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 นายเฉลิมชัยถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของตนที่เปิดไว้กับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 13,500,000 บาท โอนเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่เปิดไว้ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) บัญชีเลขที่ 412142xxxx วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 โจทก์และจำเลยได้ใช้เงินดังกล่าวจดทะเบียนซื้อที่ดินและอาคารพิพาทซึ่งเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 6766 และเลขที่ 6767 จากนางสาวกมลโดยใส่ชื่อโจทก์และจำเลยเป็นผู้ซื้อและจดทะเบียนเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินและอาคารพิพาทซึ่งในวันเดียวกันนั้นนางสาวกมลได้ไถ่ถอนจำนองที่ดินและอาคารพิพาทจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยก่อนโอนให้โจทก์และจำเลย หลังจากจดทะเบียนซื้อขายแล้วร้านชาญมอเตอร์เช่าประกอบกิจการต่อประมาณ 2 ปี จนกระทั่งปี 2550 จึงได้ดำเนินการปรับปรุงตกแต่งอาคารพิพาทเป็นคลินิก วันที่ 30 ตุลาคม 2558 โจทก์ฟ้องจำเลยขอหย่า แบ่งสินสมรส เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูและขอให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่เพียงผู้เดียวและในวันเดียวกับที่โจทก์ยื่นฟ้อง โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพห้ามจำเลยเข้าใกล้โจทก์ ห้ามทำร้าย ข่มขู่หรือทำลายทรัพย์สินโจทก์ ให้ศาลสั่งเจ้าพนักงานติดตามดูแลจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งศาล ออกคำสั่งมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่โจทก์และบุคคลในครอบครัว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพของโจทก์และออกหมายให้ปฏิบัติตามคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพ โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ขณะที่โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากันอยู่
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า เงิน 13,500,000 บาท ที่นายเฉลิมชัย บิดาของโจทก์โอนเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยเป็นสินส่วนตัวของโจทก์หรือเป็นสินส่วนตัวของโจทก์และจำเลยคนละกึ่งหนึ่ง เห็นว่า โจทก์และนายเฉลิมชัยเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า นายเฉลิมชัยให้เงินแก่โจทก์เป็นสินส่วนตัวเพื่อให้ไปซื้อที่ดินและอาคารพิพาทโดยนายเฉลิมชัยจะโอนเงินเข้าบัญชีของโจทก์แต่โจทก์บอกให้โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยเพื่อความสะดวกในการที่จะให้จำเลยในการติดต่อและชำระเงินค่าที่ดินและอาคารพิพาท แม้นายเฉลิมชัยจะเป็นบิดาของโจทก์แต่ก็หาเป็นข้อระแวงว่าจะเบิกความช่วยเหลือโจทก์ ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยไม่ เพราะเงินที่โอนเข้าบัญชีของจำเลยมีจำนวนถึง 13,500,000 บาท ไม่ใช่จำนวนเล็กน้อยที่นายเฉลิมชัยจะยกให้แก่จำเลยถึงกึ่งหนึ่งโดยเสน่หาซึ่งนายเฉลิมชัยก็เบิกความยืนยันว่ามิได้มีความสนิทสนมกับจำเลยและจำเลยไม่เคยโทรศัพท์ติดต่อขอเงินจากนายเฉลิมชัย คำเบิกความของนายเฉลิมชัยที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเงินที่โอนมีน้ำหนักให้รับฟัง จำเลยกลับเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่าจำเลยเคยคุยกับโจทก์ว่าตึกที่ซื้อใหม่นี้จะต้องเป็นของโจทก์และจำเลยร่วมกันหากไม่ใช่กรรมสิทธิ์รวมของโจทก์และจำเลยแล้ว จำเลยจะไม่ยอมนำเงินมาปรับปรุงและไม่ย้ายมาทำคลินิกร่วมกับโจทก์ จึงเป็นการเจือสมกับคำของโจทก์ที่เบิกความว่าโจทก์ให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารพิพาท ยิ่งเป็นข้อสนับสนุนว่านายเฉลิมชัยให้เงิน 13,500,000 บาท เป็นสินส่วนตัวของโจทก์ จำเลยคงมีตัวจำเลยเพียงปากเดียวเบิกความลอย ๆ ว่านายเฉลิมชัยให้เงิน 13,500,000 บาท แก่โจทก์และจำเลยคนละกึ่งหนึ่งโดยไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยคุ้นเคยสนิทสนมกับนายเฉลิมชัยถึงกับจะมอบเงินจำนวนดังกล่าวซึ่งไม่ใช่จำนวนเล็กน้อยให้แก่จำเลย และจำเลยก็ไม่ได้นำสืบว่ามีการติดต่อกับนายเฉลิมชัยเพื่อให้เงินแก่จำเลย การที่นายเฉลิมชัยโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยหาเป็นข้อบ่งชี้ว่านายเฉลิมชัยยกเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่งไม่ ที่จำเลยแก้ฎีกาอ้างข้อเท็จจริงว่า คุ้นเคยสนิทสนมกับนายเฉลิมชัยและได้โทรศัพท์ขอบคุณนายเฉลิมชัยล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยไม่ได้นำสืบในชั้นพิจารณาในศาลชั้นต้นเลย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และที่จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำแก้ฎีกา ก็มิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบพระราชบัญญัติเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เงิน 13,500,000 บาท ที่นายเฉลิมชัยบิดาของโจทก์โอนเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ที่นายเฉลิมชัยให้โดยเสน่หา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471 (3) ฎีกาของโจทก์ประการแรกฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการที่สองว่า ที่ดินและอาคารพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่โจทก์และจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เงิน 13,500,000 บาท ที่นายเฉลิมชัย โอนเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยเป็นเงินที่นายเฉลิมชัยให้โจทก์โดยเสน่หา อันเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ดังวินิจฉัยตามปัญหาประการแรกข้างต้น ดังนั้น เมื่อนำเงินดังกล่าวไปซื้อที่ดินและอาคารพิพาท เช่นนี้ ที่ดินและอาคารพิพาทจึงเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1472 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ตกลงให้จำเลยจดทะเบียนซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาทร่วมกันและให้ใส่ชื่อโจทก์และจำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมจึงเป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินในระหว่างเป็นสามีภริยาซึ่งโจทก์มีสิทธิบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันหรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ในระหว่างที่โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากันอยู่ถือว่าเป็นการบอกล้างภายในกำหนดตามกฎหมายข้างต้น โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่ให้โจทก์และจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาว่า ที่ดินและอาคารพิพาทเป็นสินสมรสและให้แบ่งที่ดินให้โจทก์และจำเลยคนละกึ่งมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ประการที่สองฟังขึ้น
อนึ่ง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประการหนึ่งตามตาราง 7 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลชั้นต้นมิได้กำหนด ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดให้ชัดแจ้ง
พิพากษากลับให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีการวม 30,000 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีทั้งสามศาลให้เป็นพับ