คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3854/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลนัดสืบพยานโจทก์เวลา 9.00 นาฬิกาและสืบพยานจำเลยเวลา 13.30 นาฬิกาในวันเดียวกัน จำเลยไม่มาศาลในเวลาสืบพยานโจทก์ จนศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาแล้วสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวจนหมดพยาน คดีเสร็จการพิจารณาให้รอฟังคำพิพากษา ก่อนศาลพิพากษาคดีในวันนั้นเวลา13.14 นาฬิกา จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ดังนี้ศาลชั้นต้นต้องไต่สวนคำร้องว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาโดยจงใจ และมีเหตุสมควรพิจารณาคดีใหม่หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 205 วรรคสองประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างประจำได้รับค่าจ้างวันละ 300 บาท จำเลยสั่งให้โจทก์หยุดงานโดยไม่มีกำหนดโดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่จ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานถึงวันฟ้อง พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย ขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 7 วัน เป็นเงิน2,100 บาท ค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างครั้งสุดท้าย30 วัน เป็นเงิน 9,000 บาท
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างประจำ หรือลูกจ้างชั่วคราวของจำเลยโจทก์เป็นพนักงานรับจ้างทั่วไป หากสถานที่ใดต้องการคนทำงานโจทก์ก็ไปทำที่นั้น การทำงานของโจทก์เป็นการทำงานแบบจ้างทำของ
ศาลแรงงานกลางชี้สองสถาน แล้วนัดสืบพยานโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายนำสืบก่อนในวันที่ 21 มิถุนายน 2532 เวลา 9.00 นาฬิกาและให้นัดสืบพยานจำเลยในวันเดียวกันเวลา 13.30 นาฬิกาถึงวันนัด จำเลยไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา ให้พิจารณาสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว เมื่อสืบพยานโจทก์ได้ 2 ปากโจทก์แถลงหมดพยานศาลแรงงานกลางว่าคดีเสร็จการพิจารณา รอฟังคำพิพากษาวันเดียวกันนั้น ครั้นเวลา 13.14 นาฬิกา ในวันเดียวกันจำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่อ้างว่าจดเวลานัดเป็นเวลา 13.30 นาฬิกา จำเลยไม่มีเจตนาไม่มาศาลหรือจงใจขาดนัดพิจารณาแต่อย่างใดศาลแรงงานกลางสั่งว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่9 มิถุนายน 2532 ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและให้นัดสืบพยานโจทก์วันที่ 21 มิถุนายน 2532 เวลา 9.00 นาฬิกาจำเลยมีทนายความและผู้รับมอบฉันทะจากทนายจำเลยเป็นผู้นำคำร้องขอเลื่อนคดีของทนายจำเลยพร้อมใบแต่งทนายมายื่นศาล และลงทราบนัดไว้ โดยศาลได้อ่านรายงานกระบวนพิจารณาให้คู่ความฟังก่อนแล้วจึงไม่มีเหตุที่จะยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ให้ยกคำร้อง
แล้วศาลแรงงานกลางได้พิพากษาให้จำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 7 วัน และค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้าง30 วัน รวมเป็นเงิน 11,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษาต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ในการดำเนินคดีนี้ศาลแรงงานกลางชี้สองสถาน แล้วกำหนดให้ฝ่ายโจทก์สืบก่อน ให้จำเลยสืบแก้ โดยนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในวันเดียวกันเป็นแต่ต่างเวลากัน คือฝ่ายโจทก์เวลา 9.00 นาฬิกา ฝ่ายจำเลยเวลา13.30 นาฬิกา เมื่อจำเลยไม่มาศาลในเวลาสืบพยานโจทก์ จนศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา ได้สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวจนหมดพยาน คดีเสร็จการพิจารณารอฟังคำพิพากษา แต่จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่เมื่อเวลา 13.14 นาฬิกา ในขณะที่ยังอยู่ในระหว่างนัดสืบพยานจำเลยเวลา 13.30 นาฬิกา ตามที่ศาลนัดศาลแรงงานกลางยังหาได้พิพากษาคดีไม่ กรณีจึงต้องดำเนินไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 205 วรรคสอง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ซึ่งศาลแรงงานกลางต้องพิจารณาว่า การที่จำเลยขาดนัดพิจารณานั้นได้เป็นไปโดยจงใจหรือไม่ มีเหตุอันสมควรให้ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาใหม่ได้หรือไม่ ทั้งหากได้ความว่าผู้รับมอบฉันทะจากทนายจำเลยจดเวลานัดไปผิดจริง ก็จะถือว่าจำเลยจงใจขาดนัดพิจารณามิได้ ซึ่งศาลจะทราบข้อเท็จจริงได้ก็โดยการไต่สวนก่อน แต่ศาลแรงงานกลางมิได้ไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่าไม่มีเหตุที่จะยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ให้ยกคำร้อง จึงไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางไต่สวนคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลย แล้วมีคำสั่งและดำเนินการพิจารณาต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share