คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3850/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 กำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน โดยให้อำนาจอธิบดีกรมแรงงานออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ไม่จ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนและหรือเงินเพิ่มได้เองโดยไม่ต้องฟ้องร้องต่อศาล ถือได้ว่าเป็นสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอก อาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 287 กรมแรงงานจึงมีสิทธิขอเข้าเฉลี่ยหนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 ได้ แม้จะมิได้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและไม่ใช่หนี้ค่าภาษีอากรก็ตาม

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ระหว่างประกาศขายทอดตลาด ผู้ร้องขอเฉลี่ยหนี้ ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 เป็นกฎหมายพิเศษเพื่อให้ความคุ้มครองแรงงานแก่ลูกจ้างและกำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนตามอัตราที่ทางการกำหนด และตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ ข้อ 10ให้อำนาจอธิบดีกรมแรงงานมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ยึด อายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ไม่จ่ายเงินสมทบและหรือเงินเพิ่มได้เองโดยไม่จำต้องนำคดีขึ้นฟ้องร้องศาล ถือได้ว่า เป็นสิทธิอื่น ๆซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมายซึ่งบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไม่กระทบกระทั่งถึงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 กรมแรงงานจึงมีสิทธิขอเข้าเฉลี่ยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 290 ได้ แม้จะมิได้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และไม่ใช่หนี้ค่าภาษีอากรก็ตาม ส่วนที่ศาลอุทธรณ์พิจารณายกคำร้องโดยอ้างเหตุว่าในคำร้องขอเฉลี่ยหนี้ของผู้ร้องไม่ปรากฏว่าผู้ร้องไม่สามารถเอาชำระหนี้ได้ จากทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาได้พิเคราะห์คำร้องขอเฉลี่ยหนี้แล้ว เห็นว่า ในคำร้องข้อที่ 4ก็ได้ระบุว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1ทั้งหมด เพื่อขายทอดตลาด ซึ่งข้อความดังกล่าวน่าจะมีความหมายว่าผู้ร้องไม่สามารถเอาชำระหนี้ได้จากทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยที่ 1สมควรรับคำร้องของผู้ร้องไว้ทำการไต่สวนต่อไป ที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาผู้ร้องฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องและไต่สวนให้ได้ความตามนัยที่ศาลฎีกาวินิจฉัยมาแล้วข้างต้น และมีคำสั่งใหม่

Share