คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3849/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษ อ. และ ส. กับพวก ฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน เนื้อที่กว่า 3,000 ไร่ การที่ อ. นำที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินส่วนหนึ่งกว่า 1,000 ไร่ ให้ผู้คัดค้านที่ 2 เช่า และ ส. สามีกับผู้คัดค้านที่ 2 ภริยาได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินเนื้อที่กว่า 1,000 ไร่ นั้น โดยการปลูกอ้อยและส่งขายให้แก่โรงงานน้ำตาล พฤติการณ์จึงเป็นการใช้ ยึดถือ หรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติ หรือกระบวนการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันมีลักษณะเป็นการค้า การกระทำของ อ. และ ส. จึงเข้าลักษณะเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมอันเป็นความผิดมูลฐานตาม มาตรา 3 (15) ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 แล้ว

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินจำนวน 2 รายการ คือ สิทธิเรียกร้องตามสัญญาซื้อขายอ้อยและส่งเสริมการปลูกอ้อยของผู้คัดค้านทั้งสองที่มีสิทธิได้รับตามสัญญาดังกล่าวจากโรงงานน้ำตาลครบุรีในปีการผลิต 2557/2558 โดยหักค่าใช้จ่ายแล้วรวมเป็นเงิน 876,285.36 บาท พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องและคืนทรัพย์สินตามคำร้องด้วย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาซื้อขายอ้อยและส่งเสริมการปลูกอ้อยของผู้คัดค้านที่ 1 จำนวน 86,107.41 บาท และของผู้คัดค้านที่ 2 จำนวน 790,177.95 บาท รวมเป็นเงิน 876,285.36 บาท พร้อมดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินที่เกิดขึ้นตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น รับรองฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ว่า มีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า พนักงานอัยการดำเนินคดีแก่นายสมโภชและนายอัมรินทร์กับพวกที่ศาลจังหวัดสีคิ้ว ในความผิดฐานร่วมกันเข้าไปยึดถือ ครอบครองที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยเข้าไปปลูกอ้อยประมาณ 3,500 ไร่ ซึ่งที่ดินในเนื้อที่ดังกล่าวนั้น ศาลจังหวัดสีคิ้ววินิจฉัยว่าเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ โคกหนองกรุง-หนองแก้ว ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณประโยชน์มาตั้งแต่ปี 2496 แต่มีเหตุสงสัยตามสมควรว่านายอัมรินทร์และนายสมโภชกับพวกมีเจตนากระทำความผิดหรือไม่ พิพากษายกฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ลงโทษ สำหรับที่ดินส่วนที่นายอัมรินทร์เข้ายึดถือครอบครองข้างต้นมีหลักฐานเป็นโฉนดที่ดิน 3 แปลง คือ โฉนดที่ดินเลขที่ 41586 เนื้อที่ 42 ไร่ 2 งาน 4 ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ 41587 เนื้อที่ 49 ไร่ 3 งาน 96 ตารางวา และโฉนดที่ดินเลขที่ 41592 เนื้อที่ 36 ไร่ 70 ตารางวา นั้น อธิบดีกรมที่ดินได้มีคำสั่งให้เพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว นายอัมรินทร์อุทธรณ์คำสั่งต่อปลัดกระทรวงมหาดไทย แต่ปลัดกระทรวงมหาดไทยยกอุทธรณ์ นายอัมรินทร์กับพวกนำคดีไปฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองนครราชสีมา) ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืน ผู้คัดค้านที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยากับนายอัมรินทร์ตั้งแต่ปี 2545 ถึงปัจจุบัน ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรปลูกอ้อยในที่ดินประมาณ 214 ไร่ ในที่ดินที่นายอัมรินทร์ครอบครอง ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นภริยาของนายสมโภชและประกอบอาชีพเกษตรกรรม ผู้คัดค้านที่ 2 และนายสมโภชปลูกอ้อยในที่ดิน 1,095 ไร่ ซึ่งเช่าจากนายอัมรินทร์ ที่ดินดังกล่าวข้างต้นตั้งอยู่ในเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต่อมาในปี 2557 เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้มอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดรายนายสมโภชกับพวก พบว่ามีหลักฐานที่เชื่อได้ว่า นายสมโภชกับพวกมีพฤติการณ์แห่งการกระทำอันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (15) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน คณะกรรมการธุรกรรมจึงมีคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องตามสัญญาซื้อขายอ้อยและส่งเสริมการปลูกอ้อยที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จะได้รับจากการขายอ้อยที่ปลูกเฉพาะในส่วนที่ดินสาธารณประโยชน์จากโรงงานน้ำตาลครบุรี ในปีการผลิต 2557/2558 โดยหักค่าใช้จ่ายในการตัดอ้อย ค่าบรรทุกอ้อยและเงินทุนปลูกอ้อย และแจ้งคำสั่งไปให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 และโรงงานน้ำตาลครบุรีทราบ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ประการแรกว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานและทรัพย์สินพร้อมดอกผล ที่ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า พนักงานอัยการได้ฟ้องนายอัมรินทร์และนายสมโภชกับพวกรวม 10 คน ต่อศาลจังหวัดสีคิ้ว เป็นคดีอาญาในความผิดฐานร่วมกันเข้าไปยึดถือ ครอบครองที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยปลูกอ้อยประมาณ 3,500 ไร่ ซึ่งที่ดินพิพาทในคดีนี้เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินในคดีอาญาดังกล่าวและศาลจังหวัดสีคิ้ววินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ โคกหนองกรุง-หนองแก้ว ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณประโยชน์มาตั้งแต่ปี 2496 แต่ศาลจังหวัดสีคิ้วเห็นว่าจำเลยทั้งสิบเพิ่งทราบว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์เมื่อมีป้ายประกาศปิดไว้เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 กรณีจึงมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยทั้งสิบมีเจตนายึดถือครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทหรือไม่ จึงพิพากษายกฟ้อง แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบ ดังนั้น การที่นายอัมรินทร์และนายสมโภชกับพวกเข้าไปยึดถือครอบครองและปลูกอ้อยในที่ดินพิพาทอันเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ขึ้นทะเบียนไว้ตั้งแต่ปี 2496 และศาลจังหวัดสีคิ้วกับศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยว่าเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน มีเนื้อที่กว่า 3,000 ไร่ โดยศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษนายอัมรินทร์และนายสมโภชกับพวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่นายอัมรินทร์นำที่ดินซึ่งเป็นที่สาธารณประโยชน์จำนวนกว่า 1,000 ไร่ ให้ผู้คัดค้านที่ 2 เช่า และนายสมโภชกับผู้คัดค้านที่ 2 ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินสาธารณประโยชน์โดยการปลูกอ้อยและส่งขายให้แก่โรงงานน้ำตาลเป็นเนื้อที่กว่า 1,000 ไร่ พฤติการณ์จึงเป็นการใช้ ยึดถือ หรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติหรือกระบวนการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันมีลักษณะเป็นการค้า การกระทำของนายอัมรินทร์และนายสมโภชจึงเข้าลักษณะเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมอันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (15) ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เมื่อได้ความว่าผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นภริยาของนายอัมรินทร์และนายสมโภชตามลำดับ จึงเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐาน กรณีต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 51 วรรคสอง (เดิม) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาทรัพย์สินพร้อมดอกผลซึ่งได้แก่ สิทธิเรียกร้องตามสัญญาซื้อขายอ้อยและส่งเสริมการปลูกอ้อยที่ผู้คัดค้านที่ 1 มีสิทธิได้รับจากโรงงานน้ำตาลครบุรีในปีการผลิต 2557/2558 จำนวน 86,107.41 บาท และที่ผู้คัดค้านที่ 2 มีสิทธิได้รับจำนวน 790,177.95 บาท เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ภาระการพิสูจน์จึงตกอยู่กับผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ที่จะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงและทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ในข้อนี้ ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 นำสืบว่า ที่ดินที่ปลูกอ้อยเนื้อที่ 70 ไร่ ผู้คัดค้านที่ 1 เช่ามาจากญาติของนายอัมรินทร์ ซึ่งเดิมเป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 41586 แต่ภายหลังกรมที่ดินมีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 เช่าที่ดินเนื้อที่ 1,095 ไร่ จากนายอัมรินทร์ ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เพิ่งทราบว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์เมื่อมีการปักป้ายประกาศในปี 2554 แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษาว่า นายอัมรินทร์และนายสมโภชกับพวกมีความผิดฐานเข้าไปยึดถือหรือครอบครองที่ดินของรัฐซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งที่ดินพิพาทในคดีนี้เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่พนักงานอัยการฟ้องในคดีดังกล่าว จึงฟังได้ว่านายอัมรินทร์และนายสมโภชเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทด้วย แม้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จะนำสืบในคดีนี้ว่า ตนเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทก็ตาม ประกอบกับนายอัมรินทร์นำสืบรับข้อเท็จจริงในคดีอาญาของศาลจังหวัดสีคิ้วว่า ตนรวมถึงญาติพี่น้องและบุตรปลูกไม้สักในพื้นที่ประมาณ 400 ไร่ ส่วนนายสมโภชนำสืบว่า เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเนื้อที่ 1,083 ไร่ โดยเช่ามาจากโรงงานน้ำตาลครบุรี โดยโรงงานน้ำตาลครบุรี เช่าที่ดินดังกล่าวจากนายอัมรินทร์ ภายหลังนายสมโภชจึงทำสัญญาเช่ากับนายอัมรินทร์โดยตรง นายสมโภชทำประโยชน์ได้ประมาณ 12 ปี ทั้งนายอัมรินทร์ให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2557 ว่า นายอัมรินทร์ประกอบอาชีพที่อำเภอปักธงชัยโดยทำการเกษตร เช่น ปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพด ต่อมาได้ปลูกไม้สักเมื่อปี 2534 จนปัจจุบัน และปลูกอ้อยเมื่อปี 2546 จนปัจจุบันจำนวน 140 ไร่ นายอัมรินทร์และครอบครัวมีที่ดินในที่สาธารณประโยชน์ โคกหนองกรุง-หนองแก้ว ประมาณ 1,700 ถึง 1,800 ไร่ เป็นของนายอัมรินทร์ที่ปลูกต้นสัก ปลูกอ้อยปลูกมันสำปะหลัง รวมกันประมาณ 400 ไร่ ที่เหลือเป็นของลูก ๆ ญาติพี่น้องและพรรคพวกรวมกันประมาณ 1,200 ถึง 1,300 ไร่ ที่ดินดังกล่าวซื้อมาจากชาวบ้านในราคาไร่ละ 5,000 บาท 7,000 บาท 10,000 บาท และ 12,000 บาท สะสมมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2535 ถึงปัจจุบัน ชาวบ้านซึ่งทำกินในที่สาธารณประโยชน์ดังกล่าวได้มาติดต่อขายโดยไม่มีเอกสารสิทธิใด ๆ มีเพียงหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ซึ่งมีไม่มาก หลังจากซื้อที่ดินมาแล้วจะนำไปทำการเกษตร ปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลังปลูกข้าวโพด และส่วนหนึ่งแบ่งให้ลูก ๆ และให้ชาวบ้านเช่าเพื่อทำการเกษตร ส่วนนายสมโภชให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่วันที่ 23 และ 28 สิงหาคม 2557 ว่า นายสมโภชและภริยาประกอบอาชีพปลูกอ้อย ทำไร่ ทำนา ตั้งแต่อายุ 17 ปี จนปัจจุบัน นายสมโภชตกลงเช่าที่ดินของนายอัมรินทร์ต่อจากโรงงานน้ำตาลครบุรี เนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ เพื่อปลูกอ้อย ประมาณปี 2550 โดยนายสมโภชทำสัญญารับโอนสิทธิการเช่าที่ดินจากบริษัทน้ำตาลครบุรี จำกัด มาเป็นของผู้คัดค้านที่ 2 ต่อมาได้ทำสัญญาเช่าที่ดินเพิ่มจากนายอัมรินทร์และชาวบ้านอีกหลายแปลง รวมประมาณ 1,086 ไร่ ดังนั้น การที่นายอัมรินทร์และนายสมโภชนำสืบข้อเท็จจริงและให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดังกล่าวจึงเป็นการยอมรับว่าที่ดินต่าง ๆ ที่นายอัมรินทร์ได้มาและที่นายสมโภชเช่าจากนายอัมรินทร์ซึ่งรวมถึงที่ดินในคดีนี้ นายอัมรินทร์และนายสมโภชได้ครอบครองทำประโยชน์ด้วยตนเอง ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาของนายอัมรินทร์และนายสมโภชก็มิได้นำสืบว่านายอัมรินทร์และนายสมโภชมิได้ครอบครองทำประโยชน์ปลูกอ้อยในที่ดินพิพาทร่วมกับผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ด้วย ในทางตรงกันข้ามผู้คัดค้านที่ 2 กลับให้การต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2557 ว่า ได้ร่วมกับนายสมโภชประกอบอาชีพต่าง ๆ รวมทั้งทำสัญญาเช่าที่ดินจากนายอัมรินทร์โดยใช้ชื่อของผู้คัดค้านที่ 2 เนื่องจากผู้คัดค้านที่ 2 อ่านออกเขียนได้ และยังเบิกความในคดีนี้ว่า ผู้คัดค้านที่ 2 และนายสมโภชเริ่มปลูกอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลพิมายตั้งแต่ปี 2538 ต่อมาเมื่อโรงงานน้ำตาลครบุรีมาเปิดในพื้นที่ ผู้คัดค้านที่ 2 จึงได้ปลูกอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลครบุรี ดังนั้น ทางนำสืบของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 แต่เพียงว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เช่าที่ดินจากญาติของนายอัมรินทร์ ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 เช่าที่ดินจากนายอัมรินทร์และผู้คัดค้านทั้งสองทำประโยชน์ด้วยตนเอง ผู้คัดค้านทั้งสองเพิ่งทราบว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์เมื่อปี 2554 โดยไม่ได้นำสืบให้เห็นว่านายอัมรินทร์และนายสมโภชซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดมูลฐานมิได้เข้าเกี่ยวข้องกับการครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท อันจะแสดงให้เห็นว่าสิทธิเรียกร้องตามสัญญาซื้อขายอ้อยและส่งเสริมการปลูกอ้อยของผู้คัดค้านทั้งสองที่มีสิทธิได้รับตามสัญญาซื้อขายอ้อยและส่งเสริมการปลูกอ้อยจากโรงงานน้ำตาลครบุรีในปีการผลิต 2557/2558 เป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของที่แท้จริงและไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 พยานหลักฐานของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ที่นำสืบมาจึงไม่อาจรับฟังหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายและพยานหลักฐานของผู้ร้องได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าสิทธิเรียกร้องดังกล่าว เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า การที่ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เงินค่าอ้อยที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 มีสิทธิได้รับจากโรงงานน้ำตาลครบุรีตกเป็นของแผ่นดินโดยไม่หักค่าเช่าที่ดินก่อนเป็นการไม่ชอบ นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 บัญญัตินิยามคำว่า “ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด” หมายความว่า (1) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน…(2) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งเงินหรือทรัพย์สินตาม (1) หรือ (3) ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินตาม (1) หรือ (2) ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายอัมรินทร์ นายสมโภช ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอันเป็นที่สาธารณประโยชน์มาโดยตลอดก่อนที่นายอัมรินทร์และนายสมโภชจะถูกดำเนินคดี โดยผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้นำสืบว่าผู้คัดค้านทั้งสองมีรายได้จากการประกอบอาชีพอื่นนอกเหนือจากการปลูกอ้อยหรือการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จึงต้องฟังว่าเงินและทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ได้มาเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐาน ส่วนเงินค่าเช่าที่ดิน สำหรับปีการผลิต 2557/2558 เพื่อปลูกอ้อยส่งให้แก่โรงงานน้ำตาลดังกล่าวนั้น แม้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จะอ้างว่าเป็นต้นทุนที่จะต้องคืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 แต่ก็ต้องรับฟังว่าหากมีการจ่ายค่าเช่าดังกล่าวแก่บุคคลที่ครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์นั้นแล้ว ก็ย่อมเป็นการไม่ชอบ ไม่อาจนำค่าเช่าดังกล่าวมาอ้างเป็นต้นทุนได้ จึงไม่อาจนำมาหักออกจากสิทธิเรียกร้องที่ผู้คัดค้านทั้งสองมีสิทธิได้รับในปีการผลิต 2557/2558 ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ทรัพย์สินตามสิทธิเรียกร้องดังกล่าว พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ประการสุดท้ายว่าการที่ศาลอุทธรณ์นำพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2556 มาตรา 3 ที่บัญญัติเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (15) กำหนดความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือกระบวนการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันมีลักษณะเป็นการค้าเป็นความผิดมูลฐาน มาใช้บังคับย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้ายแก่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ในส่วนมาตรการดำเนินคดีต่อทรัพย์สินที่ให้ยึดหรืออายัดและให้ตกเป็นของแผ่นดิน เป็นคนละส่วนกับการดำเนินคดีอาญาต่อบุคคล ทั้งเป็นมาตรการพิเศษที่มีลักษณะเฉพาะให้ดำเนินการทางแพ่งต่อทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อเป็นการตัดวงจรการกระทำความผิด โดยมีเหตุผลมาจากหลักการคุ้มครองประโยชน์ของสังคมหรือประโยชน์สาธารณะ และหลักการติดตามและเรียกคืนทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดต่อรัฐ ทำให้สามารถดำเนินคดีทางแพ่งต่อทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดได้ โดยมิต้องคำนึงว่าทรัพย์สินนั้นผู้เป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินจะได้มาก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับหรือไม่ เพราะมาตรการดังกล่าวมิใช่โทษทางอาญาหรือเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา แม้มีการบัญญัติเพิ่มเติมความผิดมูลฐานภายหลังจากที่มีการกระทำความผิดมูลฐานนั้น ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับความผิดมูลฐานที่บัญญัติเพิ่มเติมย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับย้อนหลังไปนับแต่วันที่มีการกระทำความผิดมูลฐานนั้น ดังนั้น แม้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ได้ปลูกอ้อยในที่ดินพิพาทตั้งแต่ก่อนวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2556 มาตรา 3 มีผลใช้บังคับ ตามที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ฎีกา แต่หากศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้กระทำความผิดมูลฐาน และทรัพย์สินพิพาทตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ศาลก็มีอำนาจสั่งให้ทรัพย์สินพิพาทตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 อีกทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ได้เปิดโควตากับโรงงานน้ำตาลครบุรีทำสัญญาซื้อขายอ้อยและส่งเสริมการปลูกอ้อยในปีการผลิต 2557/2558 (เฉพาะที่ปลูกในพื้นที่สาธารณประโยชน์ โคกหนองกรุง-หนองแก้ว) และผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 มีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงินตามที่ส่งมอบให้แก่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินตามที่ได้รับแจ้งอายัด ภายหลังจากพระราชบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวมีผลใช้บังคับ กรณีจึงมิใช่การใช้บังคับกฎหมายย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่ผู้คัดค้านทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share