แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บทบัญญัติมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูลพ.ศ. 2489 นั้น หมายความว่าคดีแพ่งที่เกี่ยวด้วยเรื่องครอบครัวและมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยครอบครัวและมรดกของผู้นับถือศาสนาอิสลามอันเกิดขึ้นในศาล ของสี่จังหวัดดังกล่าว ให้ศาลใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกบังคับแทน ดังนั้น กรณีที่จะเป็นคดีต้องด้วยพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงต้องเป็นคดีมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เสียก่อน คดีนี้เป็นเรื่องเจ้ามรดกยกที่ดินอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ให้เป็นสิทธิแก่จำเลยและจำเลยร่วมตั้งแต่เจ้ามรดกยังไม่ถึงแก่ความตาย การยกที่ดินพิพาทให้ดังกล่าวแม้จะทำตามหลักกฎหมายอิสลาม ที่เรียกว่าพิธีแฮร์เบอะ โดยทำพิธีอย่างถูกต้องที่บ้านโต๊ะอิหม่ามก็ตาม กรณีก็ไม่ใช่เรื่องมรดกเพราะเป็นเรื่องให้ระหว่างมีชีวิตอยู่ บทกฎหมายในเรื่องนี้จึงต้องใช้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บังคับแก่คดี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งมรดกที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสองคนละหนึ่งในสามส่วนเป็นเงินคนละ 600,000 บาท หากแบ่งไม่ได้ให้ขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้โจทก์ทั้งสองตามสิทธิ หากจำเลยปิดบังทรัพย์มรดกไว้เท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่า ขอให้กำจัดมิให้จำเลยได้รับมรดกโดยให้ตกเป็นของโจทก์ทั้งสองเพียงฝ่ายเดียว หากปิดบังไว้น้อยกว่าส่วนที่ควรจะได้ก็ให้กำจัดมิให้จำเลยได้รับมรดกเฉพาะส่วนที่ได้ปิดบังไว้ หากจำเลยไม่ยอมแบ่งให้ถือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการโอนที่ดินมรดกให้แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่า ที่พิพาททั้งสี่แปลงมิใช่ทรัพย์มรดกของนายดือราเซะ มามะ เจ้ามรดก โดยที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 55 เจ้ามรดกยกให้แก่จำเลยนางแมะเสาะหรือแวแอเสาะ และนางคอลีเยาะตามหลักกฎหมายอิสลาม ก่อนถึงแก่ความตายนานมาแล้ว ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 213 กับที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 64 เจ้ามรดกยกให้แก่นางคอลีเยาะตามหลักกฎหมายอิสลามตั้งแต่ก่อนถึงแก่ความตายเช่นกัน ส่วนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 200 เป็นของบิดานางแมะเสาะ แต่ใส่ชื่อเจ้ามรดกเป็นเจ้าของแทน โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิตามหลักกฎหมายอิสลามที่จะขอแบ่ง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา นางคอลีเยาะ ยูโซะ กับนางแมะเสาะ มามะ ยื่นคำร้องสอดทำนองเดียวกับคำให้การจำเลยขอเข้าเป็นจำเลยร่วม
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คำร้องสอดเป็นการอ้างสิทธิเพื่อต่อสู้กับโจทก์จึงมีคำสั่งอนุญาต โดยให้เรียกนางคอลีเยาะว่าจำเลยร่วมที่ 1 เรียกนางแมะเสาะว่าจำเลยร่วมที่ 2
โจทก์ยื่นคำให้การแก้คำร้องสอดว่า เจ้ามรดกไม่เคยยกที่ดินให้แก่จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสอง ที่ดินเป็นทรัพย์มรดก ขอให้ยกคำร้องสอด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองแบ่งที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 55, 200, 213 และที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 64 ออกเป็นสามส่วนให้ตกได้แก่โจทก์ทั้งสองกับจำเลยรวมสองส่วนโดยให้แบ่งคนละเท่ากัน หากตกลงแบ่งกันไม่ได้เอาทรัพย์ออกขายทอดตลาดนำเงินแบ่งให้โจทก์ทั้งสองตามส่วน คำขออื่นให้ยก
จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสอง จำเลยและนายดือราเซะ มามะ เจ้ามรดกเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องคนอื่นถึงแก่ความตายไปแล้ว ภริยาเจ้ามรดกก็ถึงแก่ความตายไปก่อนเจ้ามรดกเจ้ามรดกถึงแก่ความตายไปเมื่อประมาณ 10 ปี โดยไม่มีบุตรที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 55 เลขที่ 200 และเลขที่ 213 กับที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 64 มีชื่อเจ้ามรดกเป็นเจ้าของ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.5 ตามลำดับ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองว่า ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกหรือไม่ โดยจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองนำสืบอ้างว่า ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงมิใช่ทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกแต่ว่าเจ้ามรดกยกที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 55และเลขที่ 213 กับที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1)เลขที่ 64 ให้จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองมาประมาณ 30 ปี แล้วตั้งแต่เจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ตามหลักศาสนาอิสลามที่เรียกว่าพิธีแฮร์เบอะ โดยทำพิธีอย่างถูกต้องที่บ้านโต๊ะอิหม่ามส่วนที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 200 เป็นของบิดาจำเลยร่วมที่ 2 แต่เจ้ามรดกใส่ชื่อเป็นเจ้าของแทน สำหรับที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 55 เลขที่ 213 และตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 64 ที่จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองอ้างว่าเจ้ามรดกยกให้ตามหลักศาสนาอิสลามที่เรียกว่าพิธีแฮร์เบอะโดยทำพิธีอย่างถูกต้องที่บ้านโต๊ะอิหม่ามเมื่อประมาณ 30 ปีมาแล้ว จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองได้ครอบครองที่ดินพิพาททั้งสามแปลงตลอดมานั้น เห็นว่า ตามความในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานีนราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489 หมายความว่า คดีแพ่งที่เกี่ยวด้วยเรื่องครอบครัวและมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัวและมรดกของผู้นับถือศาสนาอิสลามอันเกิดขึ้นในศาลของสี่จังหวัดนั้น ให้ศาลใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกบังคับแทนบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัวและมรดก กรณีที่จะเป็นคดีต้องด้วยมาตรา 3ดังกล่าวแล้ว จึงต้องเป็นคดีมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เสียก่อน แต่คดีนี้เป็นเรื่องเจ้ามรดกยกที่ดินอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ให้เป็นสิทธิแก่จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองตั้งแต่เจ้ามรดกยังไม่ถึงแก่ความตาย ดังนั้นการยกที่ดินพิพาทให้ดังกล่าวแม้จะทำตามหลักกฎหมายอิสลามที่เรียกว่าพิธีแฮร์เบอะ โดยทำพิธีอย่างถูกต้องที่บ้านโต๊ะอิหม่ามตามที่จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองอ้างก็ตามก็ไม่ใช่เรื่องมรดก เพราะเป็นเรื่องให้ระหว่างมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่เมื่อถึงแก่ความตายแล้วบทกฎหมายในเรื่องนี้จะต้องใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หาใช่กฎหมายอิสลามไม่เมื่อทรัพย์สินรายพิพาทเป็นอสังหาริมทรัพย์การยกให้มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525
ปัญหาว่าเจ้ามรดกได้มอบการครอบครองที่ดินพิพาททั้งสามแปลงให้จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสอง และจำเลยกับจำเลยร่วมทั้งสองได้ครอบครองตลอดมาจนได้กรรมสิทธิ์หรือไม่ ปัญหานี้ศาลฎีกาเชื่อว่า เจ้ามรดกยังครอบครองที่ดินพิพาททั้งสามแปลงอยู่ไม่ได้มอบการครอบครองให้จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาททั้งสามแปลงยังเป็นทรัพย์สินของเจ้ามรดกอยู่ในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายจึงเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกสำหรับที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 200 ที่จำเลยร่วมที่ 2 อ้างว่าเป็นของบิดาจำเลยร่วมที่ 2ซื้อจากชาวบ้านเมื่อบิดาจำเลยร่วมที่ 2 ถึงแก่ความตาย จึงโอนใส่ชื่อเจ้ามรดกไว้ก่อนแต่ตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 200 เอกสารหมาย จ.3 ปรากฏว่าหนังสือรับรองดังกล่าวออกให้แก่เจ้ามรดกโดยตรงเมื่อวันที่ 14เมษายน 2522 ไม่มีรายการจดทะเบียนว่าซื้อมาจากบุคคลอื่นทั้งสารบัญจดทะเบียนปรากฏว่า จำเลยผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนใส่ชื่อตนแล้วในวันเดียวกันได้จดทะเบียนขายให้จำเลยร่วมที่ 2ถ้าเป็นของบิดาจำเลยร่วมที่ 2 จริง น่าจะโอนกลับมาเป็นของจำเลยร่วมที่ 2 มิใช่ทำลักษณะโอนขาย จึงมีพิรุธน่าสงสัยที่จำเลยร่วมที่ 2 อ้างว่าที่ดินพิพาทแปลงนี้เป็นของบิดาจำเลยร่วมที่ 2 แต่ให้เจ้ามรดกใส่ชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นเจ้าของแทนจึงไม่น่าเชื่อถือ ที่ดินพิพาทแปลงนี้จึงเป็นทรัพย์สินของเจ้ามรดกในขณะเจ้ามรดกถึงแก่ความตายและเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกเช่นเดียวกันที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกและแบ่งที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยดะโต๊ะยุติธรรมเป็นผู้ชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลามในการแบ่งมรดกนั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน