แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
กรณีจะเป็นฟ้องซ้อนได้นั้น จะต้องเป็นเรื่องโจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น เมื่อคดีก่อนของศาลชั้นต้นมีประเด็นเดียวกันกับคดีนี้ ว่าจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองหรือไม่ แต่คดีก่อนนั้น จำเลยที่ 1 คดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลย ส่วนคดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีก่อนฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นจำเลย ดังนั้นคดีสองสำนวนดังกล่าวโจทก์จึงไม่ใช่บุคคลคนเดียวกัน ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน เอกสารสัญญาเงินกู้และสัญญาค้ำประกันเป็นแบบพิมพ์ในกระดาษแผ่นเดียวกัน โดยด้านหน้าเป็นสัญญาเงินกู้ ด้านหลังเป็นสัญญาค้ำประกัน การที่โจทก์ปิดอากรแสตมป์ต่อมาทางด้านหลังสัญญากู้เงิน ซึ่งไม่มีการทำสัญญาค้ำประกันด้วยบุคคลเอาไว้แสดงให้เห็นว่าเป็นการปิดเพิ่มเติมต่อจากด้านหน้า จึงไม่เป็นการฝ่าฝืน ป.รัษฎากรแต่ประการใด.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นสามีของนางคำมี จำเลยที่ 2เป็นมารดาของนางคำมี จำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นบุตรของนางคำมีกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2528 จำเลยที่ 1 กับนางคำมีร่วมกันกู้เงินจากโจทก์ 300,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระคืนในวันที่ 11 มิถุนายน 2528 ต่อมาวันที่ 3 พฤษภาคม 2528 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 155 ไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันและในวันเดียวกันนั้นนางคำมีได้ถึงแก่ความตายจำเลยที่ 1 กับนางคำมียังไม่ชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยแก่โจทก์ซึ่งเมื่อคำนวณถึงวันฟ้อง รวมเป็นเงิน 358,840 บาท โจทก์ทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระก็ให้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินจากการขายทอดตลาดไม่พอชำระหนี้ก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ เท่าที่รับมรดกจากนางคำมีออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยกู้เงินจากโจทก์ ลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ในสัญญากู้เงินเป็นลายมือชื่อปลอม นางคำมีจะกู้เงินจากโจทก์หรือไม่จำเลยไม่ทราบแม้นางคำมีจะกู้เงินจากโจทก์ แต่ก็มิได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 สัญญากู้จึงตกเป็นโมฆียะ จำเลยที่ 1 ขอถือเอาคำให้การนี้เป็นการบอกล้างสัญญากู้เงินดังกล่าว จำเลยที่ 1 ไม่เคยทำสัญญาจำนองเพื่อเป็นประกันเงินกู้จากโจทก์ ลายมือชื่อจำเลยที่ 1ในสัญญาจำนองเป็นลายมือปลอมสัญญากู้เงินจึงตกเป็นโมฆะด้วย ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 367/2528 ของศาลชั้นต้น ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวและทายาทโดยธรรมของนางคำมี จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนางคำมี ร่วมกันชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยมิฉะนั้นให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 155ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน กับสิ่งปลูกสร้างในที่ดินออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากขายได้ไม่พอชำระหนี้ก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยทั้งสี่ เท่าที่ได้รับมรดกจากนางคำมีออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ในฐานะผู้รับมรดกของนางคำมีผู้ตายร่วมกันชำระเงิน 300,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…เห็นว่า แม้คดีนี้กับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 367/2528 ของศาลชั้นต้นจะมีประเด็นว่าจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองหรือไม่ แต่คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 367/2528 ของศาลชั้นต้นดังกล่าว จำเลยที่ 1 คดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลย ขอให้เพิกถอนสัญญาจำนอง ส่วนคดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีเรื่องก่อนฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นจำเลย ดังนั้นคดีสองสำนวนดังกล่าวโจทก์จึงไม่ใช่บุคคลคนเดียวกันกรณีจะเป็นฟ้องซ้อนได้นั้นจะต้องเป็นเรื่องโจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่จะเป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 วรรคสอง (1) ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน…
ปัญหาสุดท้ายที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3และที่ 4 มีว่า สัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.2 ปิดอากรแสตมป์ในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 ไม่ครบถ้วน และที่มาปิดไว้ในหนังสือสัญญาค้ำประกันเงินกู้ก็ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเป็นตราสารที่แยกจากกัน เห็นว่า สัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.2 และสัญญาค้ำประกันเป็นแบบพิมพ์ในกระดาษแผ่นเดียวกันโดยด้านหน้าเป็นสัญญากู้เงิน ด้านหลังเป็นสัญญาค้ำประกัน ในการทำสัญญากู้เงินรายนี้ไม่มีสัญญาค้ำประกันด้วยบุคคล โจทก์ใช้อากรแสตมป์ดวงละ 5 บาท และ 20 บาท ในการปิดสัญญากู้เงิน เมื่อพิจารณาสัญญากู้เงินด้านหน้าแล้ว หากปิดอากรแสตมป์ดวงละ 5 บาท ลงไปถึง36 ดวง ยอมทับข้อความในสัญญา การที่โจทก์ปิดอากรแสตมป์ต่อมาทางด้านหลังสัญญากู้เงิน ซึ่งไม่มีการทำสัญญาค้ำประกันเอาไว้แสดงให้เห็นว่าเป็นการปิดเพิ่มเติมต่อจากด้านหน้า จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนประมวลรัษฎากรแต่ประการใด ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ 3และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวร่วมรับผิดชำระเงิน 300,000 บาท ให้แก่โจทก์ด้วย นอกจากที่แก้แล้วให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2.