คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3846-3847/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยแจ้งด้วยวาจาพร้อมกับมอบระเบียบข้อบังคับในการทำงานและกฎข้อบังคับของพนักงานบริษัทจำเลย ให้แก่โจทก์ในวันสัมภาษณ์ว่าโจทก์ต้องทดลองงาน 180วัน ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการ ‘แจ้งให้ทราบเป็นหนังสือ’ตามความหมายของ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 แต่เป็นเพียงการส่งมอบเอกสารให้โจทก์ไปศึกษาว่า จำเลยมีข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานเป็นประการใดเท่านั้นทั้งในวันสัมภาษณ์นั้นก็ยังมิได้มีการตกลงจ้างกัน ต่อมา จำเลย ตัดสินใจจ้างโจทก์ตามหนังสือแจ้งให้โจทก์มาทำงาน ก็หามีข้อความใด แสดงให้ปรากฏว่าโจทก์จะต้องทดลองปฏิบัติงานหรือไม่ จึงไม่เป็น การแจ้งให้ลูกจ้างทดลองปฏิบัติงาน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องคดีทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามเป็นบริษัทในเครือเดียวกันจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาจำเลยทั้งสามเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสามจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยพร้อมทั้งดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยทั้งสามสำนวนให้การว่า จำเลยทั้งสามจ้างโจทก์เข้าทำงานได้ตกลงกันว่า จะจ้างโจทก์เป็นพนักงานชั่วคราวเพื่อทดลองปฏิบัติงานหนึ่งร้อยแปดสิบวันก่อนทั้งระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานระบุว่า พนักงานทุกคน จะต้องเป็นลูกจ้างชั่วคราวเพื่อทดลองงานก่อนมีกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวัน โจทก์ได้ทราบระเบียบข้อบังคับของจำเลยทั้งสามแล้ว ระหว่างที่ทดลองงานอยู่นั้น จำเลยทั้งสามเห็นว่าโจทก์ยังไม่มีความสามารถและไม่เหมาะสมจึงได้เลิกจ้างโจทก์ก่อนครบกำหนดเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันโดยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์แล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย เพราะจำเลยทั้งสามเลิกจ้างโจทก์ในระหว่างทดลองงาน และเป็นไปตามข้อตกลง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยพร้อมทั้งดอกเบี้ยให้โจทก์

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การที่นางกมลา สุโกศล กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยทั้งสามแจ้งด้วยวาจาพร้อมกับมอบระเบียบข้อบังคับฯ เอกสารหมาย ล.1กับกฎข้อบังคับฯ เอกสารหมาย ล.2 แก่โจทก์ในวันสัมภาษณ์นั้นยังไม่ถือว่าเป็นการ”แจ้งให้ทราบเป็นหนังสือ” ตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ 46แต่เป็นเพียงการส่งมอบเอกสารสองฉบับให้โจทก์ไปศึกษาว่า จำเลยทั้งสามมีข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานเป็นประการใดเท่านั้น ประกาศกระทรวงมหาดไทยฯข้อ 46 มุ่งประสงค์ที่จะให้มีหลักฐานเป็นหนังสือโดยแจ้งชัดว่า นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันไว้เป็นประการใด จะต้องมีการทดลองปฏิบัติงานหรือไม่ หากมี จะเป็นระยะเวลาเท่าใด ทั้งนี้ เพื่อขจัดความขัดแย้งอันอาจมีขึ้นในภายหน้า เป็นการคุ้มครองลูกจ้าง อีกประการหนึ่งวันที่ 15 มีนาคม 2528 อันเป็นวันสัมภาษณ์นั้น ยังมิได้มีการตกลงจ้างกัน ต่อมาวันที่ 19 มีนาคม 2528 จำเลยทั้งสามจึงตัดสินใจจ้างโจทก์นับแต่วันที่ 22 เมษายน 2528 เป็นต้นไปตามหนังสือแจ้งให้โจทก์มาทำงานดังเอกสารหมาย จ.1 ในโอกาสแรกที่จำเลยทั้งสามตกลงจ้างโจทก์เป็นการแน่นอนตามเอกสารหมาย จ.1 นั้นก็หามีข้อความใดแสดงให้ปรากฏว่า โจทก์จะต้องทดลองปฏิบัติงานหรือไม่ เป็นระยะเวลานานเท่าใด

ศาลฎีกาเห็นว่า ลำพังแต่การส่งมอบระเบียบข้อบังคับฯ เอกสารหมาย ล.1กฎข้อบังคับฯ เอกสารหมาย ล.2 ไม่เป็นการแจ้งให้ทดลองปฏิบัติงานตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย ข้อ 46 ส่วนหนังสือแจ้งให้มาทำงานเอกสารหมาย จ.1 กลับปรากฏความชัดว่า การจ้างไม่มีข้อตกลงว่าจะต้องมีการทดลองปฏิบัติงานกันเลย

พิพากษายืน

Share