คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3843/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การจดทะเบียนคณะกรรมการบริหารของสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย เป็นเพียงวิธีการทางกฎหมายเพื่อให้ปรากฏหลักฐานทางทะเบียนเท่านั้น และตามข้อบังคับสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย ก็กำหนดไว้เพียงว่าให้คณะกรรมการบริหารมาจากการเลือกตั้งจากผู้แทนสมาชิก ในที่ประชุมใหญ่ โดยไม่มีข้อกำหนดให้ต้องนำรายชื่อคณะกรรมการบริหารที่ได้รับเลือกตั้งไปจดทะเบียน ดังนั้น แม้จะไม่ได้ นำรายชื่อคณะกรรมการบริหารวาระสิงหาคม 2531 ถึง 2534ที่ได้รับเลือกตั้งใหม่ไปจดทะเบียน ก็ถือได้ว่าเป็น คณะกรรมการบริหารของสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทยโดยชอบด้วยกฎหมาย และมีอำนาจพิจารณารับสมาชิกได้โดยชอบสมาชิกที่เข้าเป็นสมาชิกระหว่างคณะกรรมการบริหารวาระสิงหาคม 2531 ถึง 2534 จึงเป็นสมาชิกที่สมบูรณ์ตามกฎหมายมีสิทธิ เข้าชื่อขอเปิดประชุมใหญ่วิสามัญและมีสิทธิเข้าร่วมประชุมแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับได้ ดังนั้น มติที่ให้แก้ไขเพิ่มเติม ข้อบังคับเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2535 จึงเป็นมติที่ ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องทำนองเดียวกันว่า โจทก์ที่ 1 เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ โจทก์ที่ 2 เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานแม่โขง โจทก์ที่ 3 เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานผลิตภัณฑ์อะลิมิเนียมและโลหะ และโจทก์ที่ 4 เป็นประธานสหภาพแรงงานบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด สหภาพแรงงานที่โจทก์ทั้งสี่เป็นสมาชิกทั้งสี่สหภาพเป็นสมาชิกของสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทยเดิมระหว่างเดือนสิงหาคม 2531 ถึง 2534 สภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย มีนายอัฒฑ์ ศรีอาจ เป็นประธาน และโจทก์ที่ 4 เป็นรองประธานคนที่ 1 ต่อมาวันที่ 18 เมษายน 2534ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์พ.ศ. 2534 มีผลให้นายอัฒฑ์ ศรีอาจ ต้องพ้นจากตำแหน่งประธานสภาองค์การลูกจ้างแห่งประเทศไทย โจทก์ที่ 4 ในฐานะรองประธานคนที่ 1 จึงมีสิทธิ์ปฏิบัติหน้าที่ของประธาน เมื่อวันที่25 สิงหาคม 2534 โจทก์ที่ 4 ได้จัดให้มีการประชุมใหญ่ ผู้แทนสมาชิกของสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทยและที่ประชุมได้เลือกโจทก์ที่ 4 เป็นประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย เลือกโจทก์ที่ 1 เป็นเลขาธิการ เลือกโจทก์ที่ 2และโจทก์ที่ 3 เป็นกรรมการ ต่อมาวันที่ 4 กันยายน 2534 โจทก์ทั้งสี่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนกรรมการบริหารสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทยต่อนายทะเบียน สำนักงานทะเบียนกลางจำเลยในฐานะนายทะเบียน ไม่รับจดทะเบียน เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่เสียหาย ไม่ได้เป็นประธาน เลขาธิการ และกรรมการของสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย และเฉพาะโจทก์ที่ 4 ฟ้องต่อจากข้อความดังกล่าวว่า เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2535 โจทก์ที่ 4ทราบว่าจำเลยในฐานะนายทะเบียน สำนักงานทะเบียนกลาง ได้รับจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มข้อบังคับของสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทยตามคำขอของนายจำลอง โหงนาค ลงวันที่ 16 มีนาคม 2535 โดยไม่ถูกต้อง เนื่องจากการประชุมแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 มีนาคม2535 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การเรียกประชุมไม่ถูกต้อง กรรมการบริหารที่เรียกประชุมไม่มีอำนาจ สมาชิกทั้งหมดยังไม่ทราบกำหนดการประชุมและสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมออกเสียงบางคนเป็นสมาชิกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสี่ขอให้บังคับจำเลยรับจดทะเบียนให้โจทก์ทั้งสี่เป็นกรรมการบริหารของสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทยหากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนารับจดทะเบียนและเฉพาะโจทก์ที่ 4 ขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย ตามคำขอของนายจำลอง โหงนาค ฉบับลงวันที่16 มีนาคม 2535 หากจำเลยไม่ปฏิบัติ ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยด้วย
จำเลยทั้งสี่สำนวนให้การทำนองเดียวกันว่า การที่จำเลยไม่รับจดทะเบียนตามคำขอจดทะเบียนกรรมการบริหารสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทยของโจทก์ทั้งสี่ เป็นการถูกต้องด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว เพราะการจัดประชุมใหญ่สามัญเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2534 โดยโจทก์ที่ 4 รองประธานทำหน้าที่แทนประธานกรรมการบริหารไม่เป็นไปตามข้อบังคับที่ 20 กล่าวคือไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเลขาธิการเป็นผู้รับแจ้งรายชื่อและรับสมัคร ผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารทำให้การประชุมใหญ่ดังกล่าวไม่ชอบด้วยข้อบังคับส่วนที่จำเลยรับจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย ตามคำขอของนายจำลอง โหงนาคฉบับลงวันที่ 16 มีนาคม 2535 เป็นการรับจดทะเบียนโดยถูกต้องตามกฎหมาย เพราะการประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2535โดยนายจำลอง โหงนาค ประธานที่ประชุม เป็นการประชุมตามระเบียบข้อบังคับตามจำนวนสมาชิกที่ถูกต้อง สมาชิกทั้งหมดทราบกำหนดการประชุมโดยกรรมการบริหารเรียกประชุมโดยชอบด้วยกฎหมายและสมาชิกที่เข้าประชุมมีอำนาจลงมติตามระเบียบข้อบังคับ โจทก์ที่ 4ไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า สภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทยมีข้อบังคับตามเอกสารหมาย ล.5 เป็นองค์กรลูกจ้างที่สำนักงานทะเบียนกลางรับจดทะเบียนไว้ เดิมในวาระปี 2528 ถึง 2531มีคณะกรรมการบริหาร 30 คน นายอัฒฑ์ ศรีอาจเป็นประธานคณะกรรมการบริหารดังกล่าว หมดวาระในวันที่ 27 สิงหาคม 2531 ต่อมาวันที่ 28 สิงหาคม 2531 มีการประชุมใหญ่สามัญของสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย เลือกตั้งคณะกรรมการบริหาร 40 คน อยู่ในวาระสามปี นายอัฒฑ์ ศรีอาจคงเป็นประธาน นายพนัส ไทยล้วนเป็นเลขาธิการ แต่ไม่มีการนำรายชื่อคณะกรรมการบริหารไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ต่อมามีการเลือกตั้งซ่อมคณะกรรมการบริหารสองครั้งไม่มีการนำรายชื่อกรรมการที่ได้จากการเลือกตั้งซ่อมไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียนเช่นกัน ท้ายที่สุดปรากฏจากรายงานการประชุมใหญ่ว่าในปี 2533 มีคณะกรรมการบริหารทั้งหมด 45 คน ครั้นวันที่ 18 เมษายน 2534 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 กำหนดให้สหภาพแรงงานในรัฐวิสาหกิจสิ้นสุดลงมีผลทำให้กรรมการบริหารของสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทยบางคนรวมทั้งนายอัฒฑ์ประธานนายพนัสเลขาธิการซึ่งเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจสิ้นสุดสภาพลงไปจำนวน14 คน คงเหลือกรรมการบริหาร 31 คน แต่กรรมการบริหารที่เหลืออยู่นี้ ยังขาดคุณสมบัติตามข้อบังคับอีก 11 คน คงเหลือที่มีคุณสมบัติครบ20 คนการประชุมใหญ่ผู้แทนสมาชิกของสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2534 ไม่ชอบด้วยข้อบังคับสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย ผลของการประชุมที่เลือกโจทก์ที่ 1 เป็นเลขาธิการ โจทก์ที่ 2 กับที่ 3 เป็นกรรมการและโจทก์ที่ 4 เป็นประธาน ย่อมตกไป การที่จำเลยไม่รับจดทะเบียนให้โจทก์ที่ 1 เป็นเลขาธิการ โจทก์ที่ 2 กับที่ 3 เป็นกรรมการและโจทก์ที่ 4 เป็นประธานนั้นชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยรับจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทยตามคำขอของนายจำลอง โหงนาค ฉบับลงวันที่ 16 มีนาคม 2535 นั้น ได้ความว่าเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2535 ผู้แทนสมาชิกจำนวน 65 คน จากผู้แทนสมาชิกทั้งหมด 136 คน ร่วมลงชื่อในหนังสือถึงคณะกรรมการบริหาร ขอให้ดำเนินการเปิดประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับตามร่างที่เสนอคณะกรรมการบริหารจึงประชุมกันเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2535 มีกรรมการร่วมประชุม12 คน ที่ประชุมอนุมัติให้เปิดประชุมใหญ่วันที่ 15 มีนาคม 2535ถึงวันประชุมใหญ่ มีผู้แทนสมาชิกเข้าร่วมประชุม 90 คน ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับตามเสนอ และให้นายจำลองโหงนาคนำข้อบังคับที่แก้ไขเพิ่มเติมไปขอจดทะเบียน ซึ่งการดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับดังกล่าวเป็นไปโดยถูกต้องตามขั้นตอนที่กำหนดในข้อบังคับสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทยการที่จำเลยรับจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับตามคำขอของนายจำลอง จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสี่
โจทก์ทั้งสี่สำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์ว่าคณะกรรมการบริหารของสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทยวาระสิงหาคม 2531 ถึง 2534 ไม่ได้จดทะเบียนต่อนายทะเบียนไม่ใช่คณะกรรมการที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีสิทธิที่จะรับสมาชิกเข้าเป็นสมาชิกของสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทยสมาชิกที่เข้าชื่อขอเปิดประชุมใหญ่วิสามัญเป็นสมาชิกที่เข้าเป็นสมาชิกระหว่างคณะกรรมการบริหารวาระสิงหาคม 2531 ถึง 2534ไม่มีสิทธิเป็นสมาชิกของสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทยที่สมบูรณ์ตามกฎหมายไม่มีสิทธิเข้าชื่อขอเปิดประชุมใหญ่วิสามัญและไม่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ มติที่ให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2535จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น พิเคราะห์แล้ว ในเบื้องต้นเห็นว่าอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ดังกล่าวเป็นอุทธรณ์ในประเด็นข้อพิพาทตามที่ศาลแรงงานกลางกำหนดไว้ในประเด็นข้อ 3 ที่ว่า จำเลยรับจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย ตามคำขอของนายจำลอง โหงนาค ฉบับลงวันที่16 มีนาคม 2535 โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นตามคำฟ้องของโจทก์ที่ 4 ที่ขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนการรับจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับดังกล่าวทั้งนี้โดยโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3ไม่ได้ฟ้องและขอให้บังคับจำเลยในประเด็นนี้ด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่เฉพาะในส่วนที่เป็นอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3จึงเป็นอุทธรณ์นอกเหนือจากประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้องของโจทก์ที่ 1ถึงที่ 3 ถือได้ว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบจะรับไว้พิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ คดีจึงคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ดังกล่าวข้างต้นเฉพาะในส่วนที่เป็นอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 4 เท่านั้น ซึ่งตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 4ดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่า การจดทะเบียนคณะกรรมการบริหารของสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย เป็นเพียงวิธีการทางกฎหมายเพื่อให้ปรากฏหลักฐานทางทะเบียนเท่านั้น และตามข้อบังคับสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทยเอกสารหมาย ล.5 ข้อ 19ก็กำหนดไว้เพียงว่าให้คณะกรรมการบริหารมาจากการเลือกตั้งจากผู้แทนสมาชิกในที่ประชุมใหญ่ โดยข้อบังคับดังกล่าวไม่มีข้อกำหนดให้ต้องนำรายชื่อคณะกรรมการบริหารที่ได้รับเลือกตั้งไปจดทะเบียนดังนั้น แม้จะไม่ได้นำรายชื่อคณะกรรมการบริหารวาระสิงหาคม 2531ถึง 2534 ไปจดทะเบียน ก็ถือได้ว่าคณะกรรมการบริหารดังกล่าวเป็นคณะกรรมการบริหารของสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทยโดยชอบด้วยกฎหมาย และมีอำนาจพิจารณารับสมาชิกเข้าเป็นสมาชิกของสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทยได้โดยชอบ สมาชิกที่เข้าเป็นสมาชิกระหว่างคณะกรรมการบริหารวาระสิงหาคม 2531 ถึง 2534จึงเป็นสมาชิกของสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทยที่สมบูรณ์ตามกฎหมายมีสิทธิเข้าชื่อขอเปิดประชุมใหญ่วิสามัญ และมีสิทธิเข้าร่วมประชุมแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับได้ ดังนั้น มติที่ให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2535 จึงเป็นมติที่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้ยกฟ้อง โจทก์ที่ 4 ในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share