คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3840/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อปรากฏว่าโจทก์จ่ายเงินค่าครองชีพให้ลูกจ้างทุกเดือนมีจำนวนแน่นอนไม่แตกต่างไปจากการจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้าง ถือได้ว่าเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานเงินค่าครองชีพจึงเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2
เมื่อเงินค่าครองชีพที่โจทก์จ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าจ้างจึงต้องนำมาคำนวณเป็นค่าทดแทนด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๒๓ โจทก์ได้รับคำสั่งเงินทดแทนที่ ๓๐/๒๕๒๓ ของพนักงานเงินทดแทนจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยสั่งให้โจทก์จ่ายค่าทดแทนแก่ลูกจ้างของโจทก์เป็นเงิน ๑,๗๙๖.๖๖ บาท เนื่องจากการที่ลูกจ้างประสบอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงานให้แก่โจทก์โจทก์ไม่เห็นด้วยเพราะเจ้าหน้าที่ของจำเลยนำเงินค่าครองชีพที่โจทก์จ่ายให้แก่ลูกจ้างมารวมกับเงินเดือนแล้วคำนวณค่าทดแทน โจทก์ไม่นำเงินค่าครองชีพมาคำนวณด้วย เพราะเงินค่าครองชีพโจทก์ไม่ได้จ่ายให้เป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานตามปกติของลูกจ้าง ต่อมาเมื่อวันที่๑ มิถุนายน ๒๕๒๔ โจทก์ได้รับคำสั่งอุทธรณ์ที่ ๑๑/๒๕๒๔ จากจำเลยโดยจำเลยมีความเห็นเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ของจำเลย และให้โจทก์จ่ายค่าทดแทนดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างภายใน ๓๐ วัน ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนที่ ๑๑/๒๕๒๔ ของจำเลย
จำเลยให้การว่า การคำนวณค่าทดแทนของจำเลยตามคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนที่ ๑๑/๒๕๒๔ ลงวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๒๔ ชอบแล้ว เพราะถือว่าเงินค่าครองชีพเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่จำเลยนำเงินค่าครองชีพมารวมกับเงินเดือนเพื่อคำนวณค่าทดแทนกรณีลูกจ้างประสบอันตรายนั้นชอบแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า รัฐวิสาหกิจทั้งหลายรวมทั้งโจทก์ได้จ่ายค่าครองชีพให้แก่พนักงานและลูกจ้างประจำของรัฐวิสาหกิจก็เนื่องจากพนักงานรัฐวิสาหกิจได้ยื่นข้อเรียกร้องขอขึ้นค่าครองชีพเมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๒๒ ทั้งนี้โดยอ้างการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการครองชีพและการปรับปรุงอัตราค่าจ้างเงินเดือนของข้าราชการนายกรัฐมนตรีได้มอบให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาข้อเรียกร้องดังกล่าวแล้วเสนอข้อสรุปผลการพิจารณาข้อเรียกร้องขอค่าครองชีพของพนักงานรัฐวิสาหกิจต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๒๓ ลงมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๓ โดยถือเป็นมาตรการชั่วคราวจนกว่าจะมีการปรับปรุงโครงสร้างค่าจ้างเงินเดือนพนักงานรัฐวิสาหกิจแล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้ตามหนังสือของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ มท.๐๑๐๐/๑๒๖๖๘ ลงวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๒๓ เรื่องผลการพิจารณาข้อเรียกร้องขอค่าครองชีพของพนักงานรัฐวิสาหกิจถึงนายกรัฐมนตรี และหนังสือของเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ สร.๐๒๐๒/ว.๑๑๒ ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๒๓ เรื่องผลการพิจารณาข้อเรียกร้องขอค่าครองชีพของพนักงานรัฐวิสาหกิจถึงปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จะเห็นได้ว่าสาเหตุแห่งการเรียกร้องค่าครองชีพของพนักงานรัฐวิสาหกิจนั้น เพราะการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการครองชีพซึ่งอาจทำให้เงินเดือนหรือค่าจ้างไม่สมดุลกับค่าครองชีพ จนเป็นเหตุให้ข้าราชการได้รับการปรับปรุงอัตราค่าจ้างเงินเดือนแล้วพนักงานรัฐวิสาหกิจจึงเรียกร้องขอเพิ่มค่าใช้จ่ายในการครองชีพ หรือขอเพิ่มค่าจ้างนั่นเองซึ่งรัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีก็ได้อนุมัติดังกล่าวแล้วเพื่อให้พนักงานหรือลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจมีรายได้เพิ่มขึ้น เงินรายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้นจะเรียกชื่ออย่างไรก็ตาม เมื่อจ่ายให้เป็นประจำเดือน มีจำนวนแน่นอนไม่แตกต่างไปจากการจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้าง ถือได้ว่าเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานเงินค่าครองชีพที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติจึงเป็นค่าจ้างตามความหมายของคำว่า ค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๒ และตามหนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าวแสดงว่ารัฐบาลมีเจตนาจะปรับปรุงโครงสร้างค่าจ้างเงินเดือนของรัฐวิสาหกิจใหม่พนักงานและลูกจ้างประจำของรัฐวิสาหกิจได้ยื่นข้อเรียกร้องค้างการพิจารณาของรัฐบาลมาเป็นเวลานาน รัฐบาลจึงใช้วิธีเพิ่มรายได้หรือค่าจ้างหรือเงินเดือนโดยการจ่ายเงินจำนวนหนึ่งเรียกว่าเงินค่าครองชีพให้พนักงานและลูกจ้างประจำของรัฐวิสาหกิจไปพลางก่อน หรือการจ่ายค่าจ้างหรือเงินเดือนตามอัตรานี้ให้ใช้เพียงชั่วคราว ส่วนอัตราค่าจ้างเงินเดือนที่แท้จริงหรือถาวรนั้นต้องรอให้รัฐบาลปรับปรุงโครงสร้างค่าจ้างเงินเดือนพนักงานรัฐวิสาหกิจแล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้ ตามที่ปรากฏในข้อ ๗.๓ ความว่า โดยถือเป็นมาตรการชั่วคราวจนกว่าจะมีการปรับปรุงโครงสร้างค่าจ้างเงินเดือนพนักงานรัฐวิสาหกิจแล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้ตามข้อ ๗.๓ นั้นหาได้หมายความว่าเงินจำนวนนี้หรือเงินที่เรียกว่าค่าครองชีพนี้จะจ่ายเพียงชั่วคราวแล้วงดจ่ายหรืออาจเปลี่ยนแปลงได้ อันจะทำให้เห็นว่าเงินค่าครองชีพมิใช่ค่าจ้างแต่ประการใดไม่ เมื่อเงินค่าครองชีพที่โจทก์จ่ายให้แก่ลูกจ้างของโจทก์เป็นค่าจ้างจึงต้องนำมาคำนวณค่าทดแทนด้วย
พิพากษายืน

Share