คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 384/2494

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ชายหญิงสมรสกันโดยไม่สนใจเรื่องจดทะเบียนสมรสชายจะฟ้องเรียกสินสอดของหมั้นคืนไม่ได้ เพราะฝ่ายชายสืบไม่สมฟ้องว่า หญิงผิดสัญญาไม่ยอมจดทะเบียนสมรสด้วย (ฎีกาที่ 659/2487) และจะเรียกค่าใช้จ่ายในการเตรียมการสมรสตาม ป.ม.แพ่ง ฯ มาตรา 1439 (2) ก็ไม่ได้ เพราะหญิงมิได้กระทำผิดสัญญาหมั้น
ส่วนเงินกองทุนที่ชายเอามากองทุนในการแต่งงานนั้น ยังคงเป็นทรัพย์สินของชาย เมื่อไม่ข้อสัญญาผูกพันให้หญิงยึดเอาไว้ได้ ชายก็มีสิทธิเรียกคืนได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องเรียกคืนสินสอดของหมั้น เงินกองทุน และให้จำเลยใช้ค่าทดแทนความเสียหาย ซึ่งฝ่ายโจทก์ได้ใช้จ่ายไปโดยสุจริตเนื่องในการเตรียมการสมรส โดยอ้างว่าจำเลยผิดสัญญา ไม่ยอมจดทะเบียนสมรส
จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์เองไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรส ฯลฯ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามทางพิจารณาได้ความเพียงว่า เมื่อสู่ขอได้ตกลงให้มีการแต่งงานกันตามประเพณีเท่านั้น ไม่ได้พูดกันไม่ได้มีการทำความเข้าใจกัน ถึงการที่จะต้องจดทะเบียนสมรส เมื่อแต่งงานกันแล้วก็แล้วกัน ไม่ได้สนใจเรื่องการจดทะเบียนสมรสกันเลย จนกระทั่งถึงเกิดเหตุบาดหมางกันแล้ว โจทก์จึงได้อ้างถึงการที่จะจดทะเบียนสมรสขึ้น ดังนี้ข้อเท็จจริงจึงเป็นอันว่าโจทก์สืบไม่สมฟ้องว่า จำเลยผิดสัญญาไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรสฉะนั้นโจทก์จะอาศัยสิทธิตาม ป.ม.แพ่ง ฯ มาตรา ๑๔๓๖ เรียกสินสอดของหมั้นคืนหาได้ไม่ และค่าใช้จ่ายในการเตรียมการสมรสเมื่อจำเลยมิได้กระทำผิดสัญญาหมั้น โจทก์ก็จะอาศัยสิทธิตามมาตรา ๑๔๓๘ และ ๑๔๓๙ (๒) เรียกให้จำเลยใช้ทดแทนไม่ได้เช่นเดียวกัน
แต่สำหรับเงินกองทุนนั้น แม้ว่าโจทก์จะได้เอาเงินมากองทุนในการแต่งงาน เงินนั้นก็ยังคงเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของโจทก์อยู่นั่นเอง และไม่มีข้อสัญญาผูกพันว่าจะให้จำเลยยึดถือเอาไว้ได้ เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ไม่เป็นสามีภริยากันตามกฎหมายได้ เพราะไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกทรัพย์ของโจทก์คืนได้
จึงพิพากษาแก้ ให้จำเลยคืนเงินกองทุนสามพันบาทให้โจทก์คำขอนอกกว่านี้ ให้ยกเสีย

Share