คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3839/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ขณะที่โจทก์เสนอคำฟ้องต่อศาลโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งอยู่โดยละเมิดต่อโจทก์ได้ แม้ภายหลังฟ้องคดีแล้วโจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวให้แก่โจทก์ร่วมอำนาจฟ้องของโจทก์ที่บริบูรณ์อยู่แล้วยังคงมีผลอยู่ต่อไปส่วนโจทก์ร่วมผู้รับโอนกรรมสิทธิ์จากโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(2)โจทก์ยังคงมีอำนาจฟ้องต่อไป และโจทก์ร่วมสิทธิร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 9011พร้อมสิ่งปลูกสร้าง คือตึกแถวเลขที่ 247/3-4 จำเลยได้ทำสัญญาเช่าตึกแถวเลขที่ 247/3-4 ของโจทก์รวมสองห้องมีกำหนดระยะเวลาเช่า 1 ปี ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 500 บาท เมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้วโจทก์ได้มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกการเช่า จำเลยได้รับหนังสือและล่วงพ้นกำหนดระยะเวลาตามหนังสือดังกล่าวแล้ว แต่เพิกเฉยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถใช้ประโยชน์ในตึกแถวและที่ดินได้ ขอคิดค่าเสียหายจากจำเลยในอัตราเดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันครบกำหนดตามหนังสือบอกกล่าวคือวันที่ 24 กันยายน 2532 ถึงวันฟ้องระยะเวลา 1 เดือน21 วัน เป็นเงิน 33,320 บาท ขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินและส่งมอบตึกแถวเลขที่ 247/3-4 รวม 2 ห้องและที่ดินโฉนดเลขที่ 9011 ให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยห้ามมิให้จำเลยและบริวารยุ่งเกี่ยวกับตึกแถวและที่ดินดังกล่าวอีกต่อไปให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 33,320 บาท และค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินและส่งมอบตึกแถวและที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์เรียบร้อย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 9011 พร้อมตึกแถวเลขที่ 247/3-4 จึงไม่มีอำนาจมอบอำนาจให้นายชูชัย อภิรัตน์ มาฟ้องคดีแทน ขอให้ยกฟ้อง
ในวันสืบพยานโจทก์ บริษัทอรุณนคร จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินและส่งมอบตึกแถวเลขที่ 247/3-4 ถนนเจริญนคร แขวงคลองต้นไทรเขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร และที่ดินโฉนดเลขที่ 9011ตำบลคลองต้นไทร (บางไส้ไก่ฝั่งเหนือ) อำเภอคลองสาน (บางลำภูล่าง)จังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรี ให้แก่โจทก์ร่วมในสภาพเรียบร้อยให้จำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 5,100 บาท แก่โจทก์ กับค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2532เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินพร้อมส่งมอบตึกแถวและที่ดินดังกล่าวในสภาพเรียบร้อยแก่โจทก์ร่วมจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า หลังจากโจทก์ฟ้องคดีแล้ว โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาทให้แก่โจทก์ร่วม จะทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์หมดไปหรือไม่ และโจทก์ร่วมมีสิทธิขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้หรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ขณะที่โจทก์เสนอคำฟ้องต่อศาลโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวพิพาท โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ซึ่งอยู่โดยละเมิดต่อโจทก์ได้ แม้ภายหลังฟ้องคดีแล้วโจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่โจทก์ร่วม อำนาจฟ้องของโจทก์ที่บริบูรณ์อยู่แล้วยังคงมีผลอยู่ต่อไป ส่วนโจทก์ร่วมผู้รับโอนกรรมสิทธิ์จากโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(2) ดังนั้นโจทก์ยังคงมีอำนาจฟ้องต่อไป และโจทก์ร่วมมีสิทธิร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share