แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การไล่ลูกจ้างออกจากงานอันถือว่าเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานนั้นไม่จำต้องมีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร การที่กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างพูดกับลูกจ้างว่า”มึงทำหมา ๆ อย่างนี้กูไล่มึงออก”ประกอบกับหลังจากพูดไล่ลูกจ้างออกจากงานแล้ว นายจ้างยังไปแจ้งความที่ สถานีตำรวจกล่าวหาลูกจ้างว่าไม่ยอมออกไปจากห้องพักคนงานและ ลูกจ้างได้หยุดงานทั้งยังทวงถามให้นายจ้างคิดค่าชดเชยและค่าจ้างให้ด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมถือได้ว่านายจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้างแล้ว
กิจการและลักษณะงานของนายจ้าง มิใช่กิจการต้องเสี่ยงภยันตรายอันอาจจะเกิดขึ้นได้ง่าย การทำงานต้องทำติดต่อกันทั้งกลางวันและกลางคืน ประตูหน้าต่าง ไฟฟ้าและน้ำต้องเปิดใช้ตลอดเวลา การที่ลูกจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างไม่ปิดประตูหน้าต่าง ไฟฟ้าและน้ำในโรงงานเพียงชั่วระยะเวลาเดียวจึงยังไม่เพียงพอที่จะถือว่าเป็นกรณีที่ร้ายแรงในอันที่นายจ้างจะไม่จ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ได้รับค่าจ้างเดือนละ ๒,๗๐๐ บาท ค่าอาหารเดือนละ ๔๕๐ บาท เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๒๔ จำเลยไล่โจทก์ออกจากงานอ้างว่าโจทก์ขัดคำสั่งซึ่งไม่เป็นความจริงจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน ๓,๑๕๐ บาท และค่าชดเชยเป็นเงิน ๑๘,๙๐๐ บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๒๔ เวลาประมาณ ๑๗ นาฬิกา นายวิฑูร จุลไกรอานิสงส์ กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยได้มอบหมายให้โจทก์ปิดประตูโรงงานและอาคารโรงงานต่าง ๆ พร้อมทั้งดูแลทรัพย์สินของจำเลยให้เรียบร้อย โจทก์ละเลยขัดขืนคำสั่งของจำเลยอย่างร้ายแรงโดยละทิ้งหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยได้ว่ากล่าวตักเตือน โจทก์ไม่พอใจใช้กำปั้นทุบฝาผนังห้องและทำท่าจะต่อยกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยกับเอากุญแจยามประตูรั้วโรงงานมาใส่พร้อมยึดลูกกุญแจไว้ ทำให้จำเลยเสียหาย คนงานไม่อาจเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้ ทำให้จำเลยต้องขาดรายได้ หลังจากโจทก์ขัดขืนคำสั่งของจำเลยแล้ว โจทก์ได้ละทิ้งหน้าที่ไปตั้งแต่วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๒๔ ถึงวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๒๔ โดยมิได้ยื่นใบลาอันเป็นการผิดระเบียบของจำเลย จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า นายวิฑูรเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยการที่นายวิฑูรไล่โจทก์ออกจากงานถือว่าเป็นการเลิกจ้างโจทก์การที่โจทก์ขัดคำสั่งจำเลยมิใช่เป็นกรณีที่ร้ายแรงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗(๓)โจทก์มิได้ละทิ้งหน้าที่ เพราะเป็นการกระทำหลังจากที่จำเลยไล่โจทก์ออกจากงานแล้ว จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๕๘๓ เพราะโจทก์ขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์เป็นเงิน ๑๘,๙๐๐ บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ได้ความว่าเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๒๔ เวลาประมาณ ๑๐ นาฬิกา เครื่องอบผ้าเสีย นายวิฑูรสั่งให้ช่างจัดการซ่อมแต่ซ่อมยังไม่เสร็จ จนถึงเวลา ๑๗ นาฬิกา โจทก์จะเข้าทำงานในกะที่สองคือตั้งแต่เวลา ๑๗ นาฬิกา ถึง ๑ นาฬิกา ได้มารับงาน นายวิฑูรจึงสั่งให้ทุกแผนกหยุดงานในกะที่สอง และสั่งให้โจทก์ดูแลการปิดประตูหน้าต่างในโรงงาน พร้อมทั้งปิดน้ำปิดไฟให้เรียบร้อย โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนายวิฑูรไปพบโจทก์นอนดูโทรทัศน์อยู่ในห้องพักของนายสุรศักดิ์ชั้นบนของโรงงาน จึงพูดว่าโจทก์ไม่มีสิทธิมาอยู่ในห้องนี้ โจทก์พูดโต้เถียงนายวิฑูรว่าไม่น่าทำอย่างนี้ โจทก์อยู่มาตั้ง ๗ – ๘ ปีแล้ว พูดเสร็จก็ทุบฝาห้องพักแสดงกิริยาโกรธเคือง นายวิฑูรไม่พอใจพูดด่าโจทก์ว่า “มึงทำหมา ๆ อย่างนี้กูไล่มึงออกไป” เห็นว่าที่นายวิฑูรกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยสั่งโจทก์ให้ปิดประตูหน้าต่าง และดูแลปิดน้ำไฟในโรงงาน แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งกลับไปนอนดูโทรทัศน์อยู่ในห้องพักคนงานครั้งแรกเมื่อนายวิฑูรต่อว่าโจทก์ โจทก์ได้โต้เถียงและใช้มือทุบฝาห้องอันเป็นกิริยาไม่สมควรเช่นนี้ นายวิฑูรเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทอันเป็นนิติบุคคล เป็นนายจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานย่อมมีอำนาจเลิกจ้างโจทก์ได้ ที่จำเลยอ้างว่านายวิฑูรพูดขณะบันดาลโทสะในระหว่างโต้เถียงกัน และไม่มีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรให้โจทก์ออก ไม่เป็นการเลิกจ้างนั้นเห็นว่าหลังจากนายวิฑูรพูดไล่โจทก์ออกแล้ว นายวิฑูรยังไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ
กล่าวหาว่าโจทก์ไม่ยอมออกไปจากห้องพักคนงาน จนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเรียกโจทก์ไปสอบถามให้ออกไปจากโรงงาน ประกอบกับหลังเกิดเหตุแล้วโจทก์ได้หยุดงานไม่ได้ทำงานต่อไป ทั้งยังทวงถามให้นายวิฑูรคิดค่าชดเชยและค่าจ้างให้ด้วยพฤติการณ์เช่นว่านี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าที่นายวิฑูรพูดไล่โจทก์ออกจากงานนั้นมีผลเป็นการเลิกจ้างแล้วโดยไม่จำต้องมีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรอีก
การที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายวิฑูรกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลย โดยไม่ปิดประตูหน้าต่างโรงงานและปิดน้ำปิดไฟตามคำสั่งนั้น จำเลยอ้างว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเป็นการละทิ้งหน้าที่ในการควบคุมดูแลทรัพย์สินของจำเลยซึ่งหากมีภัยพิบัติเกิดขึ้นเช่นไฟฟ้าช็อตการวางเพลิง จำเลยจะต้องได้รับความเสียหาย เห็นว่า การที่โจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวนั้นไม่ปรากฏว่าทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างใดภัยพิบัติอันอาจจะเกิดขึ้นได้เป็นแต่เพียงคาดการณ์ล่วงหน้าไว้เท่านั้นเป็นการไกลต่อเหตุประกอบทั้งเมื่อได้พิจารณาถึงลักษณะของงานกิจการของจำเลยมิใช่งานต้องเสี่ยงภัยอันตรายอันอาจจะเกิดขึ้นได้ง่ายอีกประการหนึ่งโดยปกติการทำงานของโรงงานทำงานติดต่อกันทั้งกลางวันและกลางคืนผลัดเปลี่ยนเวลากันเป็นกะอยู่แล้ว ประตูหน้าต่างตลอดจนน้ำไฟของโรงงานต้องเปิดใช้การอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นการที่โจทก์ฝ่าฝืนไม่ปิดประตูหน้าต่างน้ำไฟในชั่วระยะเวลาเดียว ยังไม่เพียงพอจะถือว่าเป็นกรณีร้ายแรง ในอันที่จำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
พิพากษายืน