แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ จำเลยตกลงกันตามคำเปรียบเทียบของคณะกรรมการอำเภอ ซึ่งมีความว่า “ให้จำเลยอยู่ในที่(พิพาท)นี้เรื่อยไป แต่จะยกที่ดินให้ใครไม่ได้ ส่วนพืชผลก็อาศัยแบ่งกันเก็บเงินไป” ดังนี้ ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของคู่ความว่า ให้จำเลยมีสิทธิอาศัยอยู่ในที่พิพาทเรื่อยไปจนตลอดชีวิตนั่นเอง และการยอมให้อาศัยเช่นนี้ แม้มิได้จดทะเบียน ก็ใช้ยันกันเองได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยอาศัยปลูกเรือนอยู่ในที่ดินของโจทก์ บัดนี้จำเลยกลับแสดงตนเป็นปรปักษ์แก่โจทก์ มีการเก็บกินต้นผลไม้ของโจทก์ๆบอกกล่าวให้จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์ จำเลยไม่ยอมออก จึงขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านเรือนออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยต่อสู้หลายประการ และว่าทางอำเภอได้เปรียบเทียบให้จำเลยอยู่ในที่รายนี้เรื่อยไป โจทก์ก็ยอมตกลงแล้ว จะมาฟ้องจำเลยไม่ได้
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ตามคำเปรียบเทียบของอำเภอมิได้กำหนดระยะเวลา จำเลยมีสิทธิอยู่ช้านานเพียงไร จึงถือว่าไม่มีกำหนดเวลา โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยออกจากที่อาศัยแล้ว จึง พิพากษาให้จำเลยรื้อถอนบ้านเรือนออกไปจากที่พิพาท ฯลฯ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาคดีเรื่องนี้แล้ว ข้อความคามคำเปรียบเทียบของกรมการอำเภอโดยโจทก์จำเลยตกลงกันตามนั้น ใช้คำว่า “ให้จำเลยอยู่ในที่นี้เรื่อยไปแต่จะยกที่ดินไปให้ใครไม่ได้ ส่วนพืชผลก็อาศัยแบ่งกันเก็บเงินไป” แสดงให้เห็นเจตนาของคู่ความว่าให้จำเลยมีอาศัยอยู่ในที่พิพาทเรื่อยไป จนตลอดชีวิตนั่นเอง การยอมให้อาศัยเช่นนี้ แม้มิได้จดทะเบียน ก็ใช้ยันกันเองได้
จึงพิพากษายืน