คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3838/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สินค้าที่โจทก์นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นสินค้าผิดแบบโจทก์มีสิทธิที่จะขอส่งกลับคืนไว้ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 7 ของประกาศกรมศุลกากรที่ 9/2535 โจทก์ได้แจ้งเรื่องอุปกรณ์สินค้าที่นำเข้ามาผิดแบบให้จำเลยทราบทันที และขออนุมัติส่งคืนให้แก่ผู้ขายหลังจากทำการตรวจสอบสินค้าแล้ว แต่จำเลยมิได้มีคำสั่งเรื่องที่โจทก์ขอส่งสินค้ากลับคืนไปแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ของจำเลยเพิ่งจะมีคำสั่งแจ้งเรื่องให้โจทก์ทราบเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์นำสินค้าเข้ามา ดังนั้นการที่โจทก์ไม่สามารถส่งสินค้ากลับออกไปภายใน 1 ปีได้นั้น จึงมิใช่ความผิดของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิขอคืนเงินอากรที่ชำระให้จำเลยพร้อมดอกเบี้ย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยคืนเงินค่าอากรจำนวน ๑๒๒,๔๒๒.๒๐ บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงิน ๑๐๕,๘๗๘.๖๖ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น หรือพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๑๒๒,๔๒๒.๒๐ บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงิน ๑๐๕,๘๗๘.๖๖ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอคืนภาษีอากรจากจำเลยเพราะโจทก์นำสินค้าที่จะส่งกลับต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร และได้ส่งสินค้าออกไปต่างประเทศ เป็นระยะเวลาเกิน ๑ ปีนับแต่วันนำเข้า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน ๑๐๕,๘๗๘.๖๖ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๒๘ เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระให้โจทก์เสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในกรณีนี้ได้ความว่า โจทก์นำสินค้าซึ่งเป็นส่วนประกอบหรืออุปกรณ์ประกอบเพื่อใช้ผลิตหรือประกอบเป็นเครื่องปั่นน้ำผลไม้เข้ามาในราชอาณาจักรเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๒๘ หลังจากโจทก์ชำระภาษีอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการลดอัตราอากรที่กำหนดไว้ในประกาศกรมศุลกากรที่ ๙/๒๕๒๕ ครบถ้วนและรับสินค้าดังกล่าวไปจากจำเลยแล้ว โจทก์ได้ตรวจพบว่ามอเตอร์ไฟฟ้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าที่โจทก์นำเข้ามาดังกล่าวผิดแบบไปจากที่โจทก์สั่งซื้อ โจทก์จึงได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบ เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘ และขออนุมัติส่งมอเตอร์ไฟฟ้าที่ผิดแบบดังกล่าวกลับคืนไปให้ผู้ขายตามข้อ ๗ แห่งประกาศกรมศุลกากรที่ ๙/๒๕๒๕ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๑๕ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในประกาศดังกล่าวโดยถูกต้องแล้วโดยขอให้อธิบดีกรมศุลกากรอนุมัติให้โจทก์ส่งสินค้าผิดแบบกลับคืนออกไปแบบรี เอ็กซ์ปอร์ตแต่ก่อนที่โจทก์จะไปยื่นคำร้องที่กองตรวจสินค้าขาออก เพื่อส่งสินค้าที่ผิดแบบกลับคืนออกไปตามพิธีการของศุลกากรนั้น ตามประกาศกรมศุลกากรดังกล่าว ข้อ ๗ ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ชัดว่า “……จะต้องรีบแจ้งให้กรมศุลกากรทราบโดยทันทีและจะต้องส่งกลับออกไปหรือทำลายหรือดำเนินการอื่นตามแต่อธิบดีกรมศุลกากรจะเห็นสมควร” ซึ่งหมายความว่า เมื่อโจทก์แจ้งให้จำเลยทราบแล้วว่าสินค้าที่โจทก์นำเข้ามาผิดแบบ ไม่สามารถใช้ผลิตเป็นเครื่องปั่นน้ำผลไม้ได้ อธิบดีกรมศุลกากรจะต้องมีคำสั่งเสียก่อนว่า จะอนุมัติให้โจทก์ส่งสินค้าดังกล่าวกลับคืนออกไปตามที่โจทก์มีหนังสือขออนุมัติมา หรือจะให้โจทก์ทำลายหรือให้ดำเนินการอย่างไรหลังจากอธิบดีกรมศุลกากรมีคำสั่งอนุมัติให้โจทก์ส่งสินค้านั้นกลับคืนออกไป และแจ้งให้โจทก์ทราบแล้ว โจทก์จึงจะไปดำเนินการยื่นคำร้องต่อกองตรวจสินค้าขาออกขอส่งสินค้านั้นกลับคืนออกไปแบบรีเอ็กซ์ปอร์ตได้ ส่วนที่เจ้าหนักงานกองพิธีการและประเมินอากร ได้ทำการประเมินอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มโดยเห็น เมื่อสินค้าของโจทก์ที่นำเข้าผิดแบบ จึงไม่ได้รับสิทธิลดอัตราอากรตามประกาศกรมศุลกากรดังกล่าว ก็ไม่ทำให้หนังสือของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.๑๕ ที่โจทก์ขอส่งสินค้าที่ผิดแบบคืนกลับออกไปนั้นเป็นอันถูกยกเลิกไป ดังนั้น เมื่อโจทก์ยอมชำระค่าภาษีอากรต่าง ๆ ดังกล่าวเพิ่มเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๒๘ ตามที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินแล้ว ก็น่าจะดำเนินการให้อธิบดีกรมศุลกากรมีคำสั่งว่าจะอนุมัติให้โจทก์ส่งสินค้าผิดแบบคืนกลับออกไปตามที่โจทก์มีหนังสือเอกสารหมาย จ.๑๕ ร้องขอหรือไม่ เจ้าพนักงานของจำเลยกลับดำเนินการอย่างอื่น ถึงแม้ว่าจะเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยก็ตาม แต่ก็ดำเนินการล่าช้า ดังจะเห็นได้จากบันทึกของนายชยุติ จิระเสิศพงษ์ รองอธิบดีกรมศุลกากรที่ได้บันทึกตำหนิเกี่ยวกับการปฏิบัติงานล่าช้าของผู้อำนวยการกองคดีกับผู้อำนวยการกองพิธีการ ฯ ไว้ และเพิ่งมีคำสั่งอนุมัติให้โจทก์ส่งสินค้าผิดแบบกลับคืนออกไปแบบรีเอ็กซปอร์ตได้ เมื่อวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๒๙ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๓๓ และนายศิริ ชำนิวิกย์กรณ์ หัวหน้าฝ่ายพิธีการส่งออก มีบันทึกถึงนายอนันต์ แต่งเจริญสุข ผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาเรื่องผู้ขอส่งสินค้าออกแบบรีเอ็กซ์ปอร์ต ให้แจ้งไปดำเนินการเรื่องส่งสินค้าผิดแบบกลับคืนออกไปแบบรีเอ็กซ์ปอร์ต เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๒๙ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๒๓ และโจทก์เพิ่งทราบเรื่องดังกล่าวจากนายอนันท์ในวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๒๙ นั่นเอง ซึ่งเป็นวันที่พ้นกำหนด ๑ ปี นับแต่วันที่โจทก์นำสินค้าผิดแบบเข้ามาแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมิใช่ความผิดของโจทก์ เพราะโจทก์ได้ยื่นหนังสือขออนุมัติอธิบดีกรมศุลกากร เพื่อส่งสินค้าที่ผิดแบบกลับคืนออกไป ตั้งแต่วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘ และโจทก์ได้ชำระภาษีอากรต่าง ๆ ที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยทำการประเมินเพิ่มเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๒๘ ซึ่งหากนับแต่วันที่โจทก์ชำระค่าภาษีอากรต่าง ๆ เพิ่มดังกล่าวถึงวันที่ครบกำหนด ๑ ปี นับแต่วันที่โจทก์นำสินค้าผิดแบบเข้ามาแล้ว เจ้าพนักงานฝ่ายต่าง ๆ ของจำเลยมีเวลาดำเนินการถึง ๘ เดือนเศษ แสดงให้เห็นชัดว่า การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอส่งสินค้าผิดแบบกลับคืนออกไปต่อกองตรวจสินค้าขาออก เกินกำหนด ๑ ปี นับแต่วันที่โจทก์นำสินค้าผิดแบบเข้ามา เป็นเพราะเจ้าพนักงานฝ่ายและกองต่าง ๆ ของจำเลยปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเอง โจทก์จึงมีสิทธิขอคืนภาษีอากรต่าง ๆ เป็นจำเนวนเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยตามฟ้องได้
พิพากษายืน

Share