คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3837/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างถูกจำเลยผู้เป็นนายจ้างร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาในข้อหาร่วมกับพวกปลอมและใช้เอกสารปลอม ร่วมกันฉ้อโกงและพยายามฉ้อโกง ซึ่งหากจะฟ้องบังคับในทางแพ่งด้วยในกรณีที่ฉ้อโกงได้เงินของจำเลยไปก็ได้แต่ขอให้โจทก์ใช้คืนเงินเท่านั้น จะขอให้ศาลบังคับให้โจทก์พ้นจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยไม่ได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ต้องหาว่าร่วมกับพวกกระทำความผิดทางอาญาร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอม ร่วมกันฉ้อโกงและพยายามฉ้อโกง จึงมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาการวินิจฉัยว่าโจทก์กระทำการทุจริตต่อจำเลยหรือไม่ ศาลแรงงานไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ตำแหน่งพนักงานบัญชี ได้รับเงินเดือนสุดท้ายเดือนละ ๒,๙๒๕ บาท ค่าครองชีพเดือนละ ๙๕๐ บาท จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๒๗ โดยกล่าวหาว่าโจทก์ร่วมกับบุคคลภายนอกกระทำการทุจริตซึ่งไม่เป็นความจริง ต่อมาพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องโจทก์เป็นจำเลยต่อศาลอาญาในข้อหาร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอม ร่วมกันฉ้อโกงและพยายามฉ้อโกง ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุดแล้วตามคดีหมายเลขแดงที ๘๗๕๐/๒๕๒๘ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยที่โจทก์มิได้กระทำความผิดเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์ได้รับความเสียหาย และจำเลยไม่จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย ๑๑,๖๒๕ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๗,๗๕๐ บาท และค่าเสียหายเป็นเงิน ๖๕๒,๕๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้าง เฉพาะค่าเสียหายนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ยกเลิกคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงาน
จำเลยให้การว่า โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ลักลอบนำรหัสเงินโอนของสาขาอ่างทองของจำเลยไปดำเนินการโอนเงินเพื่อเข้าบัญชีบุคคลอื่นโดยทุจริต จำเลยจึงมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงาน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ร่วมกับนายแสวงพี่ของโจทก์และบุคคลภายนอกทุจริตด้วยวิธีแจ้งโอนเงินทางโทรศัพท์จากธนาคารจำเลยสาขาอ่างทองไปยังสาขาอื่นของจำเลยในเขตกรุงเทพมหานครหลายสาขาทั้งที่จำเลยสาขาอ่างทองไม่ได้มีการโอนเงินดังกล่าว การกระทำของโจทก์เป็นการผิดวินัยอย่างร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินตามฟ้องพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างถูกจำเลยผู้เป็นนายจ้างร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาในข้อหาร่วมกับพวกปลอมและใช้เอกสารปลอม ร่วมกันฉ้อโกงและพยายามฉ้อโกงและศาลได้พิพากษายกฟ้องในคดีอาญา ตามคดีหมายเลขแดงที่ ๘๗๕๐/๒๕๒๘ของศาลอาญา นั้น หากจะฟ้องบังคับในทางแพ่งด้วย ในกรณีที่ฉ้อโกงได้เงินของจำเลยไป ก็ได้แต่ขอให้ใช้คืนเงินเท่านั้น จะขอให้ศาลบังคับให้โจทก์พ้นจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยด้วยย่อมกระทำไม่ได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ต้องหาว่าร่วมกับพวกกระทำความผิดทางอาญาฐานร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอม ร่วมกันฉ้อโกงและพยายามฉ้อโกง จึงมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภาค ๑ ลักษณะ ๓หมวด ๒ ดังนั้นในการวินิจฉัยว่าโจทก์กระทำการทุจริตต่อจำเลยหรือไม่ศาลแรงงานกลางไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญา ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share