คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3831/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยว่าด้วยวินัยและการลงโทษทางวินัยระบุไว้ว่า “แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวจากหน้าที่การงานหรือเวลาปฏิบัติงานของบริษัท” ถือว่าเป็นการกระทำผิดร้ายแรง ดังนี้ การที่โจทก์เข้าไปมีส่วนร่วมในการประกอบธุรกิจหนังสือพิมพ์ส. โดยได้รับผลตอบแทนอันเป็นธุรกิจหนังสือพิมพ์เช่นเดียวกับที่จำเลยประกอบอยู่และเป็นการแข่งขันกับธุรกิจของจำเลยในขณะที่โจทก์ยังเป็นลูกจ้างจำเลยอยู่ซึ่งตามหนังสือสัญญาจ้างที่หนังสือพิมพ์ ส. ทำไว้กับโจทก์นั้น โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างจากการที่โจทก์ให้คำปรึกษากับหนังสือพิมพ์ดังกล่าวซึ่งเป็นคู่แข่งกับหนังสือพิมพ์ของจำเลย กรณีถือได้ว่าโจทก์ได้แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวจากหน้าที่การงานที่โจทก์ทำกับจำเลยโดยทำงานให้แก่ธุรกิจที่แข่งขันกับนายจ้างทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ถือว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีที่ร้ายแรงแล้วจำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 16 และวันที่ 1 ของเดือน ต่อมาวันที่ 30 สิงหาคม 2540จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย ระหว่างที่โจทก์ทำงานให้แก่จำเลย จำเลยค้างจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 16 ถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2540 ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย39,510 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 7,463 บาท และค่าจ้างค้าง6,585 บาท แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ เนื่องจากโจทก์ละทิ้งหน้าที่3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร และโจทก์ไปทำงานให้กับหนังสือพิมพ์สร้างชาติ ซึ่งเป็นคู่แข่งของจำเลย จึงเป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีที่ร้ายแรง จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินให้โจทก์ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อ 2.1 ว่าการที่โจทก์ไปทำงานที่หนังสือพิมพ์สร้างชาติไม่ทำให้จำเลยเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง เพราะโจทก์ยังคงทำงานให้กับจำเลยตามปกติและไม่ได้ใช้เวลาการทำงานของจำเลย จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นกรณีร้ายแรงดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยนั้น เห็นว่า ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเอกสารหมาย ล.5 ว่าด้วยวินัยและการลงโทษทางวินัยระบุไว้ในข้อ 2 ว่า”แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวจากหน้าที่การงานหรือเวลาปฏิบัติงานของบริษัท” ถือว่าเป็นการกระทำผิดร้ายแรง ซึ่งศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เข้าไปมีส่วนร่วมในการประกอบธุรกิจหนังสือพิมพ์สร้างชาติโดยได้รับผลตอบแทนตามสัญญาจ้างที่ปรึกษาเอกสารหมาย จ.6 อันเป็นธุรกิจเช่นเดียวกับที่จำเลยประกอบอยู่ และเป็นการแข่งขันกับธุรกิจของจำเลยในขณะที่โจทก์ยังเป็นลูกจ้างจำเลยอยู่ เห็นได้ว่า ตามหนังสือสัญญาจ้างที่ปรึกษาผลิตข่าวหนังสือพิมพ์สร้างชาติเอกสารหมาย จ.6ข้อ 3 ระบุว่า “ผู้รับจ้างไม่ได้เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทฯ นอกจากได้รับค่าจ้างจากการให้คำปรึกษา” ข้อ 5 ระบุว่า “ผู้รับจ้างต้องพร้อมตลอดเวลาในการให้คำปรึกษา” และข้อ 6 ระบุว่า “ผู้ว่าจ้างตกลงจ่ายค่าจ้างให้กับผู้รับจ้างภายในวันที่ 10 ของเดือนเป็นประจำตามอัตราที่ได้ตกลงกับผู้รับจ้าง” จะเห็นได้ว่า ตามหนังสือสัญญาจ้างที่ปรึกษาดังกล่าวที่หนังสือพิมพ์สร้างชาติทำไว้กับโจทก์นั้น โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างจากการที่โจทก์ให้คำปรึกษากับหนังสือพิมพ์ดังกล่าวซึ่งเป็นคู่แข่งกับหนังสือพิมพ์ของจำเลย กรณีถือได้ว่าโจทก์ได้แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวจากหน้าที่การงานที่โจทก์ทำกับจำเลยโดยทำงานให้แก่ธุรกิจที่แข่งขันกับนายจ้างทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง เป็นกรณีที่ถือว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีที่ร้ายแรงแล้ว จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย”

พิพากษายืน

Share