แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คำฟ้องของโจทก์ทั้งสามและแผนที่พิพาทไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งแปดร่วมกันทำละเมิดในที่ดินของโจทก์ทั้งสาม โดยปรากฏแต่เพียงว่าจำเลยทั้งแปดเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของโจทก์คนละส่วนต่างหากจากกัน ซึ่งโจทก์ย่อมฟ้องขับไล่จำเลยเป็นคนละคดีได้และแม้โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งแปดเข้ามาเป็นคดีเดียวกัน แต่การพิจารณาว่าคดีมีทุนทรัพย์เท่าใด ย่อมต้องถือตามราคาที่ดินที่จำเลยแต่ละคนต่างเข้าไปยึดถือครอบครอง มิใช่นับรวมกัน เมื่อที่พิพาททั้งหมดซึ่งมีเนื้อที่รวม 159 ไร่เศษ ราคาประมาณ 640,000 บาท จึงคิดเป็นราคาประมาณไร่ละอย่างสูงไม่เกิน 4,000 บาท ฉะนั้น เมื่อที่ดินที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 ยึดถือครอบครองมีเนื้อที่ไม่ถึงคนละ 50 ไร่ ซึ่งคำนวณเป็นราคาไม่เกินคนละสองแสนบาทจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งแปดและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์และห้ามเข้ามาเกี่ยวข้องอีกต่อไป
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 ให้การและแก้ไขคำให้การว่าที่พิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติจึงไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ หากเป็นของโจทก์ก็ถูกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และจำเลยที่ 5ถึงที่ 8 แย่งการครอบครองเป็นเวลา 20 กว่าปีแล้ว โจทก์มิได้ฟ้องเพื่อเอาคืนภายใน 1 ปี จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และจำเลยที่ 5ถึงที่ 8 ย่อมได้สิทธิครอบครอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ และในระหว่างพิจารณาได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ทั้งสาม
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 ออกไปจากที่พิพาทและห้ามเข้ามาเกี่ยวข้องอีกต่อไปกับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,000 บาท สำหรับสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งจำเลยที่ 4ได้ทำกับโจทก์ทั้งสามไว้ในระหว่างการพิจารณาคดีนั้น ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าชอบด้วยกฎหมาย จึงพิพากษาให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า ตามฟ้องและแผนที่พิพาทเอกสารหมายจ.28 ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งแปดร่วมกันทำละเมิดในที่ดินของโจทก์ทั้งสามปรากฏแต่เพียงว่าจำเลยทั้งแปดเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของโจทก์คนละส่วนต่างหากจากกัน ซึ่งโจทก์ย่อมฟ้องขับไล่จำเลยเป็นคนละคดีได้ แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งแปดเข้ามาเป็นคดีเดียวกันก็ตามแต่การพิจารณาว่าคดีมีทุนทรัพย์เท่าใดนั้นย่อมจะต้องถือตามราคาที่ดินที่จำเลยแต่ละคนต่างเข้าไปยึดถือครอบครองมิใช่นับรวมกันเมื่อโจทก์จำเลยทุกคนรับว่าที่พิพาททั้งหมดมีราคาประมาณ 640,000 บาทและปรากฏจากแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.28 ว่าที่ดินในส่วนที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 นำชี้ ซึ่งถือว่าเป็นที่พิพาทในคดีนี้มีเนื้อที่ทั้งหมดรวม 159 ไร่ 3 งาน 38 วาจึงคิดเป็นราคาประมาณไร่ละอย่างสูงไม่เกิน 4,000 บาท ที่ดินที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 ยึดถือครอบครองปรากฏว่ามีเนื้อที่ไม่ถึงคนละ 50 ไร่ คำนวณเป็นราคาไม่เกินคนละสองแสนบาทคดีระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 แต่ละคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินคนละสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามมาตรา 248วรรคแรกแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และนายมณีโรจน์เวคะวากยานนท์ โดยโจทก์ที่ 3 ผู้จัดการมรดกของนายมณีโรจน์เป็นผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาท แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 ได้ครอบครองและแสดงเจตนาครอบครองที่พิพาทเป็นของตนเองมาเกินกว่า 1 ปีแล้ว จำเลยทั้งเจ็ดจึงได้สิทธิครอบครองโจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้องที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่พิพาท จำเลยทั้งเจ็ดเพิ่งแสดงเจตนายึดถือที่พิพาทเพื่อตนมาจนถึงวันฟ้องไม่เกิน 1 ปี โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องนั้นเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษาให้ยกฎีกาของโจทก์ทั้งสาม