แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ผู้เป็นเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนทรัพย์สินที่ถูกริบไม่จำกัดเฉพาะผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินในขณะมีการกระทำความผิดเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 เจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินย่อมมีอำนาจจะจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของตนได้ การที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางยังไม่ทำให้รถจักรยานยนต์ของกลางตกเป็น ของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 35 เพราะคดียังไม่ถึงที่สุด เนื่องจากมีการฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ว่าไม่ควรริบรถจักรยานยนต์ของกลาง ดังนี้ในระหว่างที่คดีอยู่ในการพิจารณาของศาลฎีกา เจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางที่แท้จริงย่อมมีสิทธิโอนกรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้องได้โดยชอบ และไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติห้ามโอนกรรมสิทธิ์กันไว้ ผู้ร้องจึงเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางที่แท้จริงและมีสิทธิมายื่นคำร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลางหลังจากศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วได้ภายในกำหนด 1 ปี และเมื่อผู้ร้องและ ส. เจ้าของเดิมของรถจักรยานยนต์ของกลางขณะที่จำเลยนำไปใช้ในการกระทำความผิด มิได้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วย จึงต้องคืนรถจักรยานยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้อง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 134, 160 ทวิ จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามแต่ไม่ริบรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 1 บ-5593 หมายเลขทะเบียน ชัยภูมิ ฉ-8425 และหมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 4 ผ-9584 ของกลาง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางทั้งหมด และศาลฎีกาพิพากษายืน
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ขณะเกิดเหตุรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 1 บ-5593 (ปัจจุบันหมายเลขทะเบียน ชัยภูมิ ต-4930) เป็นกรรมสิทธิ์ของนายสนิท ปิ่นคำ พี่ชายผู้ร้อง ต่อมาวันที่ 5 กรกฎาคม 2539 นายสนิทโอนรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวให้ผู้ร้องทั้งนายสนิทและผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการที่จำเลยที่ 3 นำรถไปกระทำความผิด ขอให้สั่งคืนรถคันดังกล่าวแก่ผู้ร้อง
โจทก์คัดค้านว่า รถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 1 บ-5593 ของกลางมิใช่ทรัพย์ของผู้ร้อง ขณะเกิดเหตุผู้ร้องยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2539 ให้ริบ ของกลางย่อมตกเป็นของแผ่นดิน ไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์หรือยึดถือได้แต่ผู้ร้องรับโอนภายหลังจากศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาแล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ร้องรับโอนรถจักรยานยนต์ของกลางจากเจ้าของเดิมมาภายหลังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางอันเป็นผลให้รถจักรยานยนต์ของกลางตกเป็นของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 35 แล้ว ผู้ร้องย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์ของกลางที่จะมาร้องขอคืนได้ ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางที่แท้จริงมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนได้ ทั้งผู้ร้องและนายสนิทเจ้าของเดิมไม่รู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดด้วย พิพากษากลับ ให้คืนรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 1 บ-5593 (ปัจจุบันหมายเลขทะเบียน ชัยภูมิ ต – 4930) ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีกาฟังได้ว่า เดิมรถจักรยานยนต์ของกลางใช้ทะเบียนหมายเลข กรุงเทพมหานคร 1 บ – 5593 เป็นของนายสนิท ต่อมานางสาวขวัญใจโชคเฉลิม จำเลยที่ 3 นำรถจักรยานยนต์ของกลางไปขับและถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมพร้อมกับจำเลยที 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2538เป็นคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสาม แต่ไม่ริบรถจักรยานยนต์ของกลางแต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางโดยได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2539 ครั้นวันที่ 5 กรกฎาคม 2539 นายสนิทโอนกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้อง แล้วได้มีการขอเปลี่ยนหมายเลขทะเบียนรถจักรยานยนต์ของกลางเป็น ชัยภูมิ ต-4930 ต่อมาวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 ได้มีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา โดยศาลฎีกาพิพากษายืนให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2540 ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลาง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยชั้นนี้ว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลางหรือไม่ที่โจทก์ฎีกาว่า ผู้ร้องได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์ของกลางหลังจากศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ริบของกลางเป็นของแผ่นดินแล้ว ที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลางจึงยังไม่เข้าข้อกำหนดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 เพราะขณะเกิดเหตุผู้ร้องยังมิได้เป็นเจ้าของที่แท้จริงซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด ผู้ร้องจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะยื่นคำร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลางได้นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลสั่งให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา 33 หรือ มาตรา 34 ไปแล้ว หากปรากฏในภายหลังโดยคำเสนอของเจ้าของทีแท้จริงว่า ผู้เป็นเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดก็ให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สิน ถ้าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงาน แต่คำเสนอของเจ้าของที่แท้จริงนั้นจะต้องกระทำต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด” ซึ่งหากพิจารณาตามบทบัญญัติดังกล่าวย่อมทำให้เข้าใจได้ว่าเฉพาะผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ถูกริบที่ไม่รู้เห็นเป็นใจด้วยในขณะมีการกระทำความผิดเท่านั้น จึงจะมีสิทธิมายื่นคำร้องขอคืนทรัพย์สินที่ถูกริบได้ดังเช่นโจทก์ฎีกา แต่ความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1336 นั้นย่อมมีอำนาจจะจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของตนได้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางนั้น ยังไม่ทำให้รถจักรยานยนต์ของกลางตกเป็นของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 35 เพราะคดียังไม่ถึงที่สุดเนื่องจากมีการฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่าไม่ควรริบรถจักรยานยนต์ของกลาง ดังนั้นระหว่างที่คดีอยู่ในการพิจารณาของศาลฎีกาคือถึงวันที่ได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 อันเป็นวันที่คดีถึงที่สุดซึ่งจะทำให้รถจักรยานยนต์ของกลางที่ถูกริบตกเป็นของแผ่นดิน การที่นายสนิทเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางโอนกรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้องเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2539 ย่อมมีสิทธิที่จะกระทำได้โดยชอบมิใช่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์กันโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดังเช่นที่โจทก์ฎีกา เพราะขณะนั้นคำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด และไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติห้ามโอนกรรมสิทธิ์กันไว้ ผู้ร้องจึงเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางที่แท้จริง และมีสิทธิมายื่นคำร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลางหลังจากศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วภายในกำหนด 1 ปี ทั้งทางนำสืบของผู้ร้องก็ได้ความว่า ผู้ร้องและนายสนิทเจ้าของเดิมของรถจักรยานยนต์ของกลางขณะที่จำเลยที่ 3 นำไปใช้ในการกระทำความผิดมิได้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วย จึงต้องคืนรถจักรยานยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้อง
พิพากษายืน