คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3822/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยเลิกกิจการเพราะขาดทุนซึ่งตาม พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 มาตรา 56 มิได้กล่าวถึงการเลิกกิจการอันจะถือว่าสิทธิประโยชน์ตามบัตรส่งเสริมถูกเพิกถอนและมิได้บัญญัติให้เรียกเก็บภาษีอากรอย่างไร เมื่อสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรที่จำเลยได้รับตามบัตรส่งเสริมถูกยกเลิกเพราะการเลิกกิจการจึงต้องบังคับตาม พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503มาตรา 10 วรรคแรก โดยถือราคาและอัตราอากรที่เป็นอยู่ในวันที่สิทธิได้รับยกเว้นอากรของผู้ได้รับบัตรส่งเสริมสิ้นสุดลงเป็นเกณฑ์ในการคำนวณอากร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ได้นำเครื่องจักรและเครื่องมือสำหรับผลิตยีสต์ทำขนมปังเข้ามาในราชอาณาจักร จำนวน 6 ครั้ง ในแต่ละครั้งจำเลยที่ 1ได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 กับได้สำแดงราคาสินค้าพร้อมภาษีอากรต่าง ๆโดยขอยกเว้นอากรขาเข้าและภาษีการค้าต่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และได้รับพิจารณาอนุมัติให้ยกเว้นอากรขาเข้าและภาษีการค้าต่อมาจำเลยที่ 1 แจ้งขอเลิกประกอบกิจการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจึงได้ให้ยกเลิกบัตรส่งเสริมดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 ถูกยกเลิกบัตรส่งเสริมนั้น จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องแจ้งขอชำระอากรขาเข้าที่ได้รับการยกเว้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ความรับผิดในอันจะต้องชำระอากรเกิดขึ้น และต้องชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจำนวนภาษีอากรที่จะพึงต้องชำระ หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติเช่นว่านั้น ให้ถือว่าของนั้นได้นำเข้ามาโดยหลีกเลี่ยงการเสียอากร แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่ปฏิบัติเช่นว่านั้น โจทก์ที่ 1 จึงแจ้งจำนวนอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาล ตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 6 ฉบับ จำเลยทั้งสองก็ไม่ชำระ จึงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้า เงินเพิ่มภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่ม ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินภาษีอากรจำนวน 743,900.72 บาท ชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินค่าอากรขาเข้าที่ต้องชำระจำนวน 261,742.86 บาท เดือนละ 2,617.4286 บาท และชำระเงินเพิ่มภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของจำนวนภาษีการค้าที่ต้องชำระตามใบขน 5 ครั้งหลัง จำนวน 88,490.40 บาทเดือนละ 884.90 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องชำระภาษีอากรให้แก่โจทก์ เนื่องจากได้รับการส่งเสริมการลงทุน แต่ภายหลังต้องหยุดกิจการเพราะประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ จำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติฝ่าฝืนเงื่อนไขที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกำหนดจึงเป็นการยกเลิกบัตรส่งเสริมที่จำเลยได้ดำเนินการครบถ้วนแล้วจึงควรได้รับประโยชน์โดยมิต้องจ่ายภาษีอากร จำเลยไม่ได้รับแจ้งจำนวนอากรขาเข้าภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาล จึงไม่มีหน้าที่ต้องนำเงินค่าภาษีอากรทั้งหมดที่โจทก์ที่ 1 ได้แจ้งให้ทราบไปชำระต่อโจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากโจทก์ที่ 1และโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิที่จะเรียกเงินเพิ่มจากจำเลยทั้งสองจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดโดยส่วนตัว เพราะจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีอากรจำนวน 743,900.72 บาท ชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของต้นเงินอากรขาเข้าจำนวน 261,742.86 บาทและชำระเงินเพิ่มภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของต้นเงินภาษีการค้า จำนวน 88,490.40 บาท นับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่สาม ตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 มีว่า การประเมินเรียกเก็บภาษีอากรของโจทก์ตามฟ้องนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่ากรณีของจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 เลิกกิจการเพราะประสบภาวะขาดทุน โดยเลิกกิจการเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2527 และแจ้งให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนทราบเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2527 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้สอบสวนแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 เลิกกิจการเพราะขาดทุนจริงจึงได้มีประกาศลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2529 ให้ยกเลิกบัตรส่งเสริมของจำเลยที่ 1 กรณีของจำเลยที่ 1 จึงเห็นได้ชัดว่า จำเลยที่ 1ถูกยกเลิกบัตรส่งเสริม เพราะจำเลยที่ 1 เลิกกิจการ มิใช่เพราะถูกคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนสั่งเพิกถอนสิทธิและประโยชน์ที่ได้รับตามบัตรส่งเสริม อันเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ได้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดไว้ในบัตรส่งเสริมดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนพ.ศ. 2520 ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ได้รับการส่งเสริม จะต้องเสียภาษีอากรโดยถือสภาพของของ ราคา และอัตราภาษีอากรที่เป็นอยู่ในวันนำเข้าเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีอากร ดังที่มาตรา 55 วรรคแรก บังคับไว้ที่โจทก์ทั้งสองแก้อุทธรณ์ว่า กรณีของจำเลยที่ 1 แม้จะเป็นการเลิกกิจการก็มีผลเท่ากับสิทธิและประโยชน์ถูกเพิกถอนไปทั้งหมด ตามพระราชบัญญัติ ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 มาตรา 56 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามมาตรา 56 ดังกล่าว ในวรรคแรกได้บัญญัติเรื่องผู้ได้รับการส่งเสริมเลิกกิจการรวมกิจการกับผู้อื่น หรือโอนกิจการให้แก่ผู้อื่น ให้บัตรส่งเสริมนั้นใช้ได้ต่อไปอีก ไม่เกิน 3 เดือน นับแต่วันเลิก รวม หรือโอนกิจการ ส่วนวรรคสอง เป็นเรื่องที่ผู้ซึ่งดำเนินกิจการที่รวมกันขึ้นใหม่หรือโอนกิจการ ประสงค์จะขอรับช่วงดำเนินกิจการที่ได้รับการส่งเสริมตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในบัตรส่งเสริมต่อไป ก็ให้ยื่นคำขอรับการส่งเสริมภายในเวลาที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้าคณะกรรมการเห็นว่าไม่สมควรให้การส่งเสริมก็ให้สั่งเพิกถอนสิทธิและประโยชน์ทั้งหมด เห็นได้ชัดว่า ตามมาตรา 56 วรรคสองนี้มิได้กล่าวถึงเรื่องเลิกกิจการ อันจะถือเท่ากับสิทธิและประโยชน์ตามบัตรส่งเสริมถูกเพิกถอนดังที่โจทก์ทั้งสองเข้าใจไม่ ดังนั้นปัญหาเรื่องบัตรส่งเสริมถูกยกเลิกเพราะมีการเลิกกิจการ สิทธิและประโยชน์ที่ผู้ได้รับการส่งเสริมเคยได้รับโดยเฉพาะเรื่องภาษีอากรนี้จะเรียกเก็บอย่างไร มิได้มีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติ ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 จึงต้องบังคับตามพระราชกำหนด พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 มาตรา 10 วรรคแรกซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ 45)พ.ศ. 2528 มิใช่บังคับตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530ดังที่โจทก์กล่าวในฟ้องเพราะจำเลยที่ 1 เลิกกิจการและสำนักงานส่งเสริมการลงทุนประกาศยกเลิกบัตรส่งเสริมของจำเลยที่ 1 ก่อนที่พระราชกำหนด ฉบับที่โจทก์อ้างใช้บังคับตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 มาตรา 10 วรรคแรกที่แก้ไขแล้วบัญญัติว่า”ของใดซึ่งในเวลานำเข้าได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนอากรเพราะเหตุที่นำเข้ามาเพื่อใช้เอง โดยบุคคลที่มีสิทธิเช่นนั้น หรือเพราะเหตุที่นำเข้ามาเพื่อใช้ประโยชน์อย่างใดที่กำหนดไว้โดยเฉพาะถ้าหากของนั้นได้โอนไปเป็นของบุคคลที่ไม่มีสิทธิได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนอากร หรือได้นำไปใช้ในการอื่นนอกจากที่กำหนดไว้หรือสิทธิที่ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนอากรสิ้นสุดลงของนั้นจะต้องเสียอากรโดยถือสภาพของของ ราคา และอัตราอากร ที่เป็นอยู่ในวันโอนหรือนำไปใช้ในการอื่นหรือวันที่สิทธิได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนอากรสิ้นสุดลง เป็นเกณฑ์ในการคำนวณอากรสำหรับกรณีที่ได้รับลดหย่อนอากรให้เสียอากรเพิ่มจากที่ได้เสียไว้แล้ว ให้ครบถ้วนตามจำนวนเงินอากรที่จะพึงต้องเสียทั้งหมด ในเมื่อได้คำนวณตามเกณฑ์เช่นว่านั้น ทั้งนี้ ให้แจ้งขอชำระอากรหรืออากรเพิ่มต่อกรมศุลกากรหรือด่านศุลกากร ที่ได้นำของนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ความรับผิดในอันจะต้องชำระอากรหรืออากรเพิ่มเกิดขึ้นและต้องชำระ ณ ที่ทำการศุลกากร ซึ่งกรมศุลกากรกำหนดให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจำนวนเงินอากรหรืออากรเพิ่ม อันจะพึงต้องชำระถ้ามิได้มีการปฏิบัติเช่นว่านั้น ให้ถือว่าของนั้นได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังมิได้เสียอากรถูกต้อง แต่มิให้นำมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร(ฉบับที่ 9) พุทธศักราช 2482 มาใช้บังคับในกรณีที่ของนั้นได้โอนไปโดยสุจริต” แสดงว่าของนำเข้าใด เคยได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนอากรถ้าสิทธิที่ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนสิ้นสุดลง ของนั้นจะต้องเสียอากรโดยถือสภาพของของ ราคาและอัตราอากรที่เป็นอยู่ในวันที่สิทธิดังกล่าวสิ้นลง เป็นเกณฑ์ในการคำนวณอากรโดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ที่ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนอากรต้องไปดำเนินการเพื่อชำระอากรตามที่กำหนดไว้ ส่วนในช่วงก่อนที่สิทธิที่ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนอากรจะสิ้นสุดลง ผู้นั้นก็ได้รับสิทธิและประโยชน์ไปและต้องถือว่าเป็นสิทธิและประโยชน์ที่ได้รับไปแล้ว หากผู้นำของเข้าหมดสิทธิที่จะได้รับสิทธิและประโยชน์ต่อไป มิได้ปฏิบัติเช่นว่านั้น คือ มิได้ดำเนินการเพื่อชำระอากรดังกล่าว ก็ให้ถือว่าของนั้นได้นำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยยังมิได้เสียอากรถูกต้องซึ่งมีความหมายว่าเป็นของที่ยังมิได้เสียอากรโดยถูกต้อง อันอาจต้องถูกพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 กักยึดของที่นำเข้านั้นเพื่อประเมินเรียกเก็บภาษีอากร รวมทั้งอาจต้องเสียเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 จัตวาเท่านั้น แต่ก็ยังคงต้องถือว่าเป็นของที่ต้องเสียภาษีอากรโดยถือสภาพของของ ราคา และอัตราอากรที่เป็นอยู่ในวันที่สิทธิได้รับยกเว้นอากรสิ้นสุดลงตาม มาตรา 10 วรรคแรก แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 อยู่ หาได้หมายความว่าเมื่อผู้นำเข้ามิได้ปฏิบัติเช่นว่านั้นแล้ว ให้ถือว่าของนั้นได้นำเข้าโดยมิได้เสียอากรถูกต้องตามสภาพของของ ราคา และอัตราอากรที่เป็นอยู่ในวันที่นำเข้าไม่ ทั้งตามที่โจทก์ทั้งสองนำสืบมาก็ปรากฏว่าฝ่ายโจทก์เองถือเอาสภาพของของในวันที่สิทธิได้รับยกเว้นอากรสิ้นสุดลงคือนำเอาอายุการใช้งานของเครื่องจักรที่นำเข้าเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีอากรด้วย โดยทั้งโจทก์ที่ 1 และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนต่างก็ถืออายุของเครื่องจักรมีกำหนด 5 ปี ดังจะเห็นได้ว่า จำเลยที่ 1ได้นำเข้าเครื่องจักรในระหว่างที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนประมาณ10 ครั้ง แต่มีเพียง 6 ครั้งหลังเท่านั้นที่นับจากวันนำเข้าถึงวันเลิกกิจการไม่ถึง 5 ปี นอกนั้นนำเข้าเกิน 5 ปีแล้ว จึงไม่เรียกเก็บภาษีอากรสำหรับการนำเข้าที่พิพาทในครั้งแรก โจทก์เห็นว่านำเข้า4 ปีเศษแล้ว ก็ได้ประเมินโดยลดค่าเสื่อมราคาให้ตามหลักเกณฑ์การหักค่าเสื่อมราคาในเอกสารหมาย จ.7 แผ่นที่ 34-36 โดยถือว่าเป็นเครื่องจักรชนิดตั้งอยู่กับที่ ลดให้ร้อยละ 65 ตามเอกสารหมายจ.7 แผ่นที่ 35 ที่วงกลมสีแดงไว้ ส่วนอีก 5 ครั้งหลัง พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ผู้มีหน้าที่ประเมินอากรได้รับใบขนสินค้าขาเข้าให้ประเมินอากรโดยไม่ได้รับแจ้งข้อเท็จจริงและหลักเกณฑ์การลดหย่อนราคาของเครื่องจักรที่ได้ใช้งานไปบ้างแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 จึงประเมินภาษีอากรไปตามใบขนสินค้าที่ส่งไปให้นั้น ซึ่งไม่ถูกต้อง การประเมินเรียกเก็บภาษีอากรเครื่องจักรพิพาททั้ง 6 ครั้ง นี้ จึงต้องประเมินโดยถือสภาพของเครื่องจักรในวันที่สิทธิได้รับยกเว้นอากรสิ้นสุดลงเป็นเกณฑ์คำนวณอากรเหมือนกัน โดยถือว่าเครื่องจักรที่นำเข้ามีอายุใช้งาน5 ปี ตามที่โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างเองดังนั้น การที่โจทก์ลดค่าเสื่อมราคาโดยถือสภาพของของที่เป็นอยู่ในวันที่สิทธิได้รับยกเว้นอากรสิ้นสุดลงเป็นเกณฑ์คำนวณอากรเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักรในครั้งแรก แต่อีก 5 ครั้งหลังไม่ยอมลด ซึ่งขัดแย้งกันเอง จึงไม่ถูกต้องอย่างเห็นได้ชัด ปัญหาต่อไปมีว่าเครื่องจักรพิพาททั้ง 6 ครั้งนี้ จำเลยที่ 1 ต้องเสียภาษีอากรเพียงไร เห็นว่าตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 มาตรา 56วรรคแรก บัญญัติว่ากรณีที่ผู้ได้รับการส่งเสริมเลิกกิจการ ให้บัตรส่งเสริมนั้นใช้ได้ต่อไปอีกไม่เกิน 3 เดือน นับแต่วันเลิกกิจการ จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ได้รับสิทธิและประโยชน์จากบัตรส่งเสริมนับแต่วันที่ 17 เมษายน 2527 อันเป็นวันเลิกกิจการต่อไปอีก3 เดือน คือ วันที่ 17 กรกฎาคม 2527 เครื่องจักรที่นำเข้าครั้งแรกตามใบขนเลขที่ ดี 062-00214 นำเข้าเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2522นับถึงวันที่สิทธิและประโยชน์ของจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงเมื่อวันที่17 กรกฎาคม 2527 จึงเกิน 5 ปี แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ต้องเสียภาษีอากรสำหรับเครื่องจักรครั้งนี้ ส่วนการนำเข้าครั้งที่สองถึงครั้งที่หกนั้นต้องคิดหักค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักรตามหลักเกณฑ์ของการคิดค่าเสื่อมราคาเครื่องจักรและอุปกรณ์ของโจทก์ที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.7 แผ่นที่ 34-36 กล่าวคือ การนำเข้าครั้งที่สองตามใบขนเลขที่ 4523/9.5.2525 นำเข้าเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2524จนถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2527 เครื่องจักรได้ใช้งานไปแล้วไม่เกิน2 ปี 10 เดือน ต้องหักค่าเสื่อมราคาในอัตราร้อยละ 38 สำหรับการนำเข้าครั้งที่สาม ที่สี่ และที่ห้า ตามใบขนเลขที่ 055-3397 เลขที่055-3395 และเลขที่ 055-3396 ตามลำดับนำเข้าและใช้งานไปแล้วไม่เกิน 2 ปี 4 เดือน ต้องหักค่าเสื่อมราคาในอัตราร้อยละ 32ส่วนการนำเข้าครั้งที่หกตามใบขนเลขที่ 065-1941 นำเข้าและใช้งานไปแล้วไม่เกิน 2 ปี 2 เดือน ต้องหักค่าเสื่อมราคาให้ในอัตราร้อยละ 30 การประเมินและเรียกเก็บภาษีอากรตามฟ้องจึงไม่ถูกต้องที่ถูกต้องนั้นโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเก็บอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักรพิพาทที่นำเข้าครั้งแรกดังกล่าว ส่วนการนำเข้าเครื่องจักรพิพาท5 ครั้งหลัง ต้องคำนวณอากรขาเข้าใหม่ โดยต้องหักค่าเสื่อมราคาให้ตามหลักเกณฑ์การคิดหักค่าเสื่อมราคาเครื่องจักรและอุปกรณ์ดังกล่าวข้างต้น โดยคำนวณจากค่าอากรขาเข้าที่ฟ้องเรียก ดังนี้ครั้งที่ 1 ราคาสินค้า 727,771.38 สำแดงอากรขาเข้า 153,334.26ใช้แล้วเกิน 5 ปีหักค่าเสื่อมต่อร้อย 100 2. ราคาสินค้า 82,265.34สำแดงอากรขาเข้า 21,931.05 ใช้แล้วไม่เกิน 2 ปี 10 เดือน หักค่าเสื่อมต่อร้อย 38 อากรขาเข้าที่ต้องชำระ 13,597.25 ครั้งที่ 3ราคาสินค้า 189,602.11 สำแดงอากรขาเข้า 56,880.63 ใช้แล้วไม่เกิน2 ปี 4 เดือน หักค่าเสื่อมต่อร้อย 32 อากรขาเข้าที่ต้องชำระ38,678.83 ครั้งที่ 4 ราคาสินค้า 521,879.88 สำแดงอากรขาเข้า78,281.98 ใช้แล้วไม่เกิน 2 ปี 4 เดือน หักค่าเสื่อมต่อร้อย 32อากรขาเข้าที่ต้องชำระ 53,231.75 ครั้งที่ 5 ราคาสินค้า116,407.89 สำแดงอากรขาเข้า 34,922.37 ใช้แล้วไม่เกิน 2 ปี 4 เดือนหักค่าเสื่อมต่อร้อย 32 อากรขาเข้าที่ต้องชำระ 23,747.21 ครั้งที่ 6ราคาสินค้า 7,672.50 สำแดงอากรขาเข้า 2,301.75 ใช้แล้วไม่เกิน2 ปี 2 เดือน หักค่าเสื่อมต่อร้อย 30 อากรขาเข้าที่ต้องชำระ1,611.22
รวมเป็นเงินอากรขาเข้าของสินค้า 5 ครั้งหลัง เป็นเงิน130,866.26 บาท และจะต้องชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามพระราชบัญญัติ ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 จัตวา ในอัตราร้อยละ1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของอากรขาเข้า ดังกล่าว หลังจากพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจำนวนเงินอากรอันจะพึงต้องชำระ จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือแจ้งให้ไปชำระภาษีอากรเมื่อวันที่30 มีนาคม 2530 จึงต้องเริ่มเสียเงินเพิ่มอากรในวันที่ 30 เมษายน2530 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าอากรขาเข้าจำนวน 130,866.26 บาท พร้อมด้วยเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินอากรขาเข้าดังกล่าวนับแต่วันที่ 30 เมษายน 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1และให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลรวม134,184.70 บาท พร้อมด้วยเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของจำนวนเงินภาษีดังกล่าวนับแต่วันที่ 15พฤษภาคม 2530 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 แต่เงินเพิ่มภาษีการค้านี้มิให้เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษา ศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share