แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 15 และมาตรา 22(5)ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาคดีอาญาที่มีอัตราโทษอย่างสูงจำคุกไม่เกิน3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 มีเพียงโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และปรับอีกวันละ 500 บาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนมิใช่เป็นบทกำหนดโทษปรับเกินกว่า 60,000 บาท แม้โทษปรับรายวันเมื่อรวมกันแล้วจะเกิน 60,000 บาท ศาลแขวงก็ย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ ดังนั้นที่ศาลพิพากษาให้ปรับรายวันจนกว่าจะรื้อถอนอาคารโดยไม่คำนึงว่าเมื่อรวมค่าปรับทั้งหมดแล้วจะเกิน 60,000 บาทหรือไม่ จึงชอบที่จะทำได้ และศาลอุทธรณ์ย่อมพิพากษาแก้โทษปรับให้ถูกต้องตามกฎหมายได้แม้จะเป็นการเพิ่มโทษก็หามีบทกฎหมายห้ามไว้ไม่ ฟ้องโจทก์มุ่งหมายจะให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เฉพาะความผิดฐานชัดคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 42 วรรคสอง และมาตรา 65 เท่านั้นหาได้กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 21 ด้วยไม่ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่ชอบที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ เพราะเป็นการนอกเหนือหรือเกินไปกว่าคำฟ้องของโจทก์ จำเลยเพิ่งยกขึ้นในชั้นฎีกาว่า จำเลยเข้าครอบครองที่สาธารณะโดยการปลูกสร้างอาคารก่อนที่ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522จะใช้บังคับ กรณีต้องด้วยมาตรา 77 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นจะต้องกำหนดเวลารื้อถอนให้จำเลยไม่น้อยกว่า6 เดือน เช่นนี้ข้อฎีกาของจำเลยเป็นการเถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อคดีนี้คู่ความต้องห้ามฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ฎีกาดังกล่าวของจำเลยจึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยสถานเบา เป็นฎีกาคัดค้านดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้เข้ายึดถือครอบครองที่ดินของรัฐซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน โดยเข้าไปก่อสร้างบ้านพักอาศัยอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งให้จำเลยจัดการรื้อถอนอาคารดังกล่าวภายใน 40 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตาม ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 40, 42, 65, 69, 71ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ ปรับจำเลยกรณีฝ่าฝืนไม่รื้อถอนอาคารตามคำสั่งวันละ 500 บาท จนถึงวันที่จำเลยได้รื้อถอนอาคารตามคำสั่ง และให้จำเลย คนงาน กับบริวารของจำเลยออกไปจากที่ดินของรัฐ
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 40, 42, 65, 69, 71ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ เป็นการกระทำหลายกรรมให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรม จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐ จำคุก 15 วัน ปรับ 2,000 บาท ฐานก่อสร้างอาคาร ปรับ 1,500 บาท ฐานมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานปรับวันละ 200 บาท นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2528 จนถึงวันที่จำเลยรื้อถอนอาคาร รวมจำคุก 15 วันปรับ 3,500 บาท และปรับอีกวันละ200 บาท ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2528 จนถึงวันที่จำเลยรื้อถอนอาคารแต่ค่าปรับรวมทั้งหมดไม่เกิน 60,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนตามกฎหมาย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานวันละ 500 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยวันละ 250 บาท ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2528 จนถึงวันที่จำเลยรื้อถอนอาคาร โดยไม่คำนึ่งว่าเมื่อรวมค่าปรับแล้วจะเกิน60,000 บาทหรือไม่ และให้จำเลยกับบริวารออกจากที่ดินของรัฐที่จำเลยครอบครองอยู่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประการแรกจำเลยฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ปรับจำเลยวันละ 250 บาท ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2528ถึงวันที่จำเลยรื้อถอนอาคาร โดยไม่คำนึงว่าเมื่อรวมค่าปรับแล้วจะเกิน 60,000 บาทหรือไม่นั้น เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวง ข้อนี้เห็นว่า ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 15 และมาตรา 22(5)ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาคดีอาญาที่มีอัตราโทษอย่างสูงจำคุกไม่เกิน3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 มีเพียงโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และปรับอีกวันละ 500 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน มิใช่เป็นบทกำหนดโทษปรับเกินกว่า 60,000 บาทตามความหมายของพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 22(5) แม้โทษปรับเป็นรายวันเมื่อรวมกันแล้วจะเกิน 60,000 บาท ศาลแขวงก็ย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ปรับจำเลยเป็นรายวันจนกว่าจะรื้อถอนอาคาร โดยไม่คำนึงว่าเมื่อรวมค่าปรับทั้งหมดแล้วจะเกิน 60,000 บาทหรือไม่ จึงชอบที่จะทำได้และการที่โจทก์อุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นปรับจำเลยไม่ถูกต้องตามกฎหมายโดยปรับต่ำกว่าอัตราโทษที่กฎหมายกำหนด ศาลอุทธรณ์ย่อมพิพากษาแก้เป็นปรับให้ถูกต้องตามกฎหมายได้แม้จะเป็นการเพิ่มโทษก็หามีบทกฎหมายห้ามไว้แต่ประการใดไม่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ประการที่สองจำเลยฎีกาว่า ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษปรับจำเลย1,500 บาท ฐานก่อสร้างอาคารนั้น เป็นการพิจารณาพิพากษานอกฟ้องของโจทก์ เพราะโจทก์มิได้บรรยายฟ้องในความผิดฐานนี้ คำบรรยายฟ้องของโจทก์มิได้มุ่งประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานก่อสร้างอาคาร การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหานี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่าคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน โดยเข้าไปสร้างบ้านพักอาศัยและเจ้าพนักงานได้ตรวจพบว่าจำเลยได้ก่อสร้างอาคารดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงได้มีคำสั่งให้จำเลยจัดการรื้อถอนอาคารดังกล่าวภายใน 40 วัน แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตาม ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 40, 42, 65, 69,71 โจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 21 ซึ่งเป็นบทบัญญัติความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตมาด้วย และบันทึกฟ้องด้วยวาจาของโจทก์ ข้อ 2 ก็ระบุว่า ความผิดฐานก่อสร้างอาคารได้แยกสำนวนไปอีกคดีหนึ่ง เห็นได้ว่าฟ้องโจทก์มุ่งหมายจะให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เฉพาะความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 42 วรรคสอง และมาตรา 65เท่านั้น หาได้กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 21 ด้วยไม่ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่ชอบที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้เพราะเป็นการนอกเหนือหรือเกินไปกว่าคำฟ้องของโจทก์ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
ประการที่สามจำเลยฎีกาว่า จำเลยเข้าครอบครองที่สาธารณะโดยการปลูกสร้างอาคารก่อนที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522จะใช้บังคับ กรณีต้องด้วยมาตรา 77 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นจะต้องกำหนดเวลารื้อถอนให้จำเลยไม่น้อยกว่า 6 เดือน แต่จำเลยถูกจับและควบคุมตัวก่อนครบกำหนดจึงไม่มีโอกาสปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน อันจะเป็นเหตุให้ได้รับการยกเว้นโทษจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นนั้น เห็นว่า คดีนี้คู่ความต้องห้ามฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดของจำเลยต้องฟังตามฟ้องโจทก์ ข้อฎีกาของจำเลยเป็นการเถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามที่จำเลยต้องการ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทมาตราดังกล่าวทั้งปัญหาตามฎีกาข้อนี้ก็เป็นปัญหาที่จำเลยเพิ่งยกขึ้นในฎีกาศาลฎีกาจึงไม่อาจวินิจฉัยให้ได้ และที่จำเลยฎีกาโดยยกเหตุผลตามฎีกาข้อนี้ขึ้นอ้างต่อมาว่า จำเลยไม่มีเจตนาฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นก็ดี เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดระยะเวลารื้อถอนอาคารให้จำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดก็ดีและอาคารของจำเลยถูกรื้อถอนไปหลังจากครบกำหนดเวลาให้รื้อถอนไปเพียงวันเดียว ควรปรับจำเลยเพียง 1 วันก็ดีก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย
สำหรับฎีกาประการสุดท้ายที่ขอให้ศาลฎีกาลงโทษจำเลยสถานเบานั้นเป็นฎีกาคัดค้านดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้เช่นกัน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่ลงโทษจำเลยในฐานนี้ นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์