คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3820/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ทำรายงานประจำวันเสนอต่อจำเลยด้วยถ้อยคำที่เป็น ภาษาพูดตามธรรมดาของชาวบ้านโดยมิได้ใช้ภาษาหนังสือที่ควรจะใช้ แต่ข้อความในรายงานนั้นเป็นเรื่องคล้ายกับการเสนอแนะให้จำเลยปรับปรุงวิธีการทำงานของจำเลยให้รัดกุมและรวดเร็วซึ่งนับว่าจะก่อให้เกิดผลดีแก่จำเลย การกระทำของโจทก์ดังกล่าวไม่ปรากฏว่าเป็นการกระทำผิดต่อข้อบังคับของจำเลยอันพึงต้องถูกลงโทษทางวินัยและจำเลยก็มิได้รับความเสียหายจากการกระทำของโจทก์โดยตรง ผลที่อาจจะมีหรือเกิดขึ้นก็เป็นเพียงความไม่สบายใจของผู้ร่วมปฏิบัติงานหรือผู้บังคับบัญชาของโจทก์เท่านั้น การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
โจทก์ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงินจำนวนหนึ่ง กับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอีกจำนวนหนึ่งการที่ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทในปัญหาข้อนี้โดยใช้ถ้อยคำว่า ค่าเสียหายเท่าใด โดยมิได้ใช้ถ้อยคำว่าค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวนเท่าใดโดยเฉพาะเจาะจงเช่นนี้ กรณีจึงต้องหมายความรวมถึงค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้นด้วยอยู่ในตัว ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ด้วยนั้นจึงไม่เป็นการพิพากษานอกเหนือไปจากประเด็นข้อพิพาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างว่าโจทก์มีทัศนคติที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บังคับบัญชาและบริษัทจำเลย โจทก์ไม่มีความผิดและจำเลยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์มีพฤติกรรมและแนวความคิดแตกต่างกับพนักงานอื่น กระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา พูดจาส่อเสียด ถากถาง ก้าวร้าว และไม่เคารพต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรง มีพฤติกรรมฝ่าฝืนนโยบายการทำงานของจำเลย มักแสดงเจตนาไม่เห็นด้วยกับคำสั่ง ระเบียบและข้อบังคับของจำเลยเป็นเนืองนิจ กระทำการโน้มน้าว ยุยงให้พนักงานอื่นไม่เห็นด้วยกับระเบียบ ข้อบังคับหรือคำสั่งของจำเลย โต้เถียงคำสั่งงานโดยไร้เหตุผล พฤติการณ์ดังกล่าวนี้เป็นเหตุให้โจทก์จำเลยไม่อาจทำงานร่วมกันได้ จำเลยเคยตักเตือนโจทก์แล้ว แต่โจทก์เพิกเฉยต่อมาจำเลยได้รับหนังสือซึ่งปิดบังชื่อผู้เขียนกล่าวหาว่าจำเลยไม่ให้ความเป็นธรรมแก่ลูกจ้าง ทำนาบนหลังคน เอาประโยชน์ใส่ตัวโดยไม่คำนึงถึงสิ่งอื่น ซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าโจทก์เป็นผู้กระทำหรือมีส่วนร่วมกระทำขึ้น จึงมีเหตุสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์มิใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยมีอำนาจเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จะวินิจฉัยว่า การเลิกจ้างรายใดเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมหรือไม่นั้น ศาลย่อมพิจารณาตามข้อเท็จจริงและเหตุผลซึ่งเป็นเรื่องแต่ละกรณี ๆ ไป และย่อมพิจารณาถึงเหตุผลประกอบข้อเท็จจริงของทั้งสองฝ่ายคือ ฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างอยู่แล้ว หาได้พิจารณาแต่เฉพาะฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเพียงฝ่ายเดียวไม่ สำหรับคดีนี้ จำเลยคงถือสาเหตุเลิกจ้างโจทก์จากการที่โจทก์ทำรายงานประจำวันตามเอกสารหมาย ล.๑ ถึง ล.๕ ว่าเป็นถ้อยคำที่ไม่สุภาพ อันเป็นการก้าวร้าวไม่เคารพผู้บังคับบัญชา ซึ่งปรากฏตามเอกสารดังกล่าวนั้น กลับเป็นเรื่องคล้ายกับการเสนอแนะให้จำเลยปรับปรุงวิธีการทำงานของจำเลยให้รัดกุมและรวดเร็วซึ่งนับว่าจะก่อให้เกิดผลดีแก่จำเลยด้วย แต่ถ้อยคำที่โจทก์เขียนในรายงานประจำวันใช้ภาษาพูดตามธรรมดาของชาวบ้าน โดยมิได้ใช้ภาษาหนังสือที่ควรจะใช้เท่านั้น การกระทำของโจทก์ดังกล่าวนั้นก็ไม่ปรากฏว่าเป็นการกระทำผิดต่อข้อบังคับของจำเลยอันพึงต้องถูกลงโทษทางวินัย ทั้งจำเลยก็มิได้รับความเสียหายจากการกระทำของโจทก์โดยตรง ผลที่อาจจะมีหรือเกิดขึ้นก็เป็นเพียงความไม่สบายใจของผู้ร่วมปฏิบัติงานหรือผู้บังคับบัญชาของโจทก์เท่านั้น การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
อุทธรณ์ของจำเลยประการต่อไปมีว่า ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์เป็นการมิชอบ เพราะเป็นการพิพากษานอกเหนือไปจากประเด็นข้อพิพาท พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เป็นเงินจำนวนหนึ่งกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอีกจำนวนหนึ่ง การที่ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทในปัญหาข้อนี้โดยใช้ถ้อยคำว่าค่าเสียหายเท่าใดโดยมิได้ใช้ถ้อยคำว่าค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมมีจำนวนเท่าใดโดยเฉพาะเจาะจงเช่นนี้ กรณีจึงต้องหมายความรวมถึงค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้นด้วยอยู่ในตัว ดังนั้นที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ด้วยนั้นจึงชอบแล้ว
พิพากษายืน.

Share