คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 200/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ศาลอุทธรณ์ย่อมลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสาม
ผู้ใดร่วมกับผู้อื่นเอาเอกสาร (เช็ค) ของผู้อื่นไปโดยทุจริต ย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 และเป็นความผิดตามมาตรา 335 อีกบทหนึ่งด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๘, ๓๕๒
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๘, ๓๕๒ ให้ลงโทษตามมาตรา ๑๘๘ ซึ่งเป็นบทหนักตามมาตรา ๙๐ จำคุก ๖ เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๘, ๓๓๕ ให้ลงโทษตามมาตรา ๓๓๕ ซึ่งเป็นบทหนักตามมาตรา ๙๐ กำหนดโทษคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยเฉพาะข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ตามฎีกาข้อแรกของจำเลยที่ว่าศาลอุทธรณ์จะอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ มาลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ตามมาตรา ๓๓๕ มิได้เพราะโทษตามมาตรา ๓๓๕ สูงกว่ามาตรา ๓๕๒ นั้น เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ เมื่อศาลอุทธรณ์พิจารณาเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ได้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคสาม
จำเลยฎีกาต่อไปว่าความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๘ เป็นบทเฉพาะจะลงโทษจำเลยตามมาตรา ๓๓๕ ซึ่งเป็นบททั่วไปอีกไม่ได้ เห็นว่ามาตรา ๑๘๘ บัญญัติว่า “ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งพินัยกรรม หรือเอกสารใดของผู้อื่น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ฯลฯ” มาตรา ๓๓๔ บัญญัติว่า “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ฯลฯ” ซึ่งหากร่วมกระทำด้วยตั้งแต่สองคนขึ้นไปก็ผิดตามมาตรา ๓๓๕(๗) ดังนั้น หากผู้ใดร่วมกับผู้อื่นเอาเอกสาร (เช็ค) ของผู้อื่นไปโดยทุจริต ก็ย่อมมีความผิดตามมาตรา ๓๓๕ ด้วยอีกบทหนึ่ง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม เห็นว่าจำเลยได้บรรเทาความเสียหายแก่โจทก์แล้ว ประกอบกับจำเลยเป็นผู้หญิง และไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำความผิดอาญามาก่อน จึงมีเหตุปราณีแก่จำเลย สมควรรอการลงโทษจำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า อาศัยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ให้รอการลงโทษจำเลยมีกำหนด ๒ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share