คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3814/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 รับขนส่งโจทก์ผู้โดยสารจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ยกสิ่งของของโจทก์ให้แก่ผู้โดยสารอื่นไปโดยปราศจากความระมัดระวังทำให้โจทก์เสียหาย เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ด้วย จำเลยจึงอาจต้องรับผิดทั้งในด้านสัญญาและละเมิดพร้อม ๆ กัน ซึ่งโจทก์มีสิทธิจะฟ้องอย่างไรก็ได้ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิดจึงไม่ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่าโจทก์โดยสารรถยนต์ของจำเลยที่ 1จากขอนแก่นเข้ากรุงเทพมหานครโดยมีกระเป๋าเดินทาง 1 ใบและกล่องบรรจุผ้าถุงไหมมัดหมี่ 3 กล่องมาด้วย ขณะรถยนต์นั้นหยุดให้ผู้โดยสารระหว่างทาง จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ได้ยกกล่องซึ่งบรรจุผ้าถุงไหมมัดหมี่ของโจทก์ 1 กล่องมอบให้แก่ผู้โดยสารอื่นไปโดยความประมาทเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 26,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ฟ้องและตั้งรูปคดีว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดโจทก์ แต่จำเลยทั้งสองไม่ได้ประมาทเลินเล่อ กระทำหรืองดเว้นในการที่จักต้องกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายหรือละเว้นไม่กระทำในสิ่งที่กฎหมายบัญญัติให้กระทำ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในเรื่องละเมิด หากจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดก็เป็นลักษณะของสัญญารับขนคนโดยสาร ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และต่อสู้ในเรื่องอื่น ๆ อีกหลายประการ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา ในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1รับผิดฐานละเมิด แต่กรณีเป็นเรื่องพิพาทกันด้วยมูลสัญญารับขน ซึ่งโจทก์ต้องนำคดีมาฟ้องในลักษณะนี้จะนำกฎหมายลักษณะละเมิดมาปรับแก่คดีไม่ได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดในมูลละเมิด

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกระทำผิดกฎหมายในเรื่องละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 นั้น หมายความว่าเป็นการกระทำล่วงสิทธิของผู้อื่นที่กฎหมายกำหนดไว้อันมีแก่บุคคลทั่วไปจะเป็นใครก็ได้ ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องคดีนี้ไว้ชัดว่าจำเลยที่ 2 ได้ยกกล่องผ้าไหมมัดหมี่ของโจทก์ให้แก่ผู้อื่นไปโดยปราศจากความระมัดระวัง จึงเป็นการกระทำล่วงสิทธิของโจทก์ในฐานะเจ้าของทรัพย์สินซึ่งไม่ว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำก็เป็นละเมิด แม้คดีนี้โจทก์และจำเลยจะสมัครใจเข้าผูกพันกันโดยสัญญารับขน แต่เมื่อการที่จำเลยผิดสัญญานั้นเป็นเรื่องที่จำเลยมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวกับละเมิดอยู่ด้วย จึงอาจฟ้องรับผิดทั้งในด้านสัญญาและละเมิดพร้อม ๆ กัน และโจทก์มีสิทธิจะฟ้องอย่างไรก็ได้ไม่เป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งยอมรับบังคับให้ผู้กระทำผิดสัญญาหรือละเมิดต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายได้ทั้งในทางผิดสัญญาหรือละเมิดที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share