คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2003/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดจากจำเลยโดยมิได้ฟ้องขอให้ห้ามจำเลยกระทำซ้ำหรือกระทำต่อ.ซึ่งการละเมิด. แต่โจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยกระทำละเมิดต่อไปชั่วคราวก่อนพิพากษา. และศาลมีคำสั่งห้ามตามคำขอของโจทก์ไว้แล้ว. ดังนี้เมื่อศาลตัดสินคดีแล้ว.ถึงแม้โจทก์จะเป็นฝ่ายชนะได้รับชดใช้ค่าเสียหาย. คำสั่งห้ามนั้นก็เป็นอันยกเลิกไปในตัว. เพราะโจทก์ไม่อาจขอให้บังคับคดีห้ามมิให้จำเลยกระทำการอันโจทก์ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อไปได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจำเลยทั้งสอง เนื่องจากจำเลยจ้างผู้รับจ้างที่ไม่มีความรู้ความชำนาญมาก่อสร้างอาคารในที่ดินของจำเลยซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ ผู้รับจ้างได้ตอกเสาเข็มยาว 18 เมตรด้วยเครื่องจักรซึ่งทำให้เกิดกระเทือนมาก เป็นเหตุให้ตึกของโจทก์และรั้วซึ่งอยู่ใกล้แตกร้าวทรุดเสียหาย ก่อนจำเลยยื่นคำให้การ โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งห้ามมิให้จำเลยตอกเสาเข็มไว้ชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉิน ศาลชั้นต้นไต่สวนและไปดูที่ดินของโจทก์แล้ว ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาว่า ตัวอาคารของโจทก์และรั้วมีรอยแตกร้าวทั่ว ๆ ไปการตอกเข็มของจำเลยยังไม่เสร็จ จึงมีคำสั่งห้ามไม่ให้จำเลยทำการตอกเสาเข็มเพื่อปลูกสร้างอาคารของจำเลยไว้ชั่วคราวก่อนคำพิพากษาโดยให้โจทก์วางเงินประกันค่าเสียหายห้าพันบาท จำเลยยื่นคำร้องว่า เพื่อป้องกันความเสียหายทั้งสองฝ่ายจำเลยขอให้ศาลถอนคำสั่งห้ามชั่วคราวนั้นเสีย โดยจำเลยเสนอจะใช้เครื่องจักรกดเสาเข็มแทนการตอกเข็มถ้าเกิดการเสียหายขึ้นอีกจำเลยขอรับผิดร่วมด้วย โจทก์แถลงคัดค้าน ศาลชั้นต้นให้งดการไต่สวนและมีคำสั่งว่า คำร้องของจำเลยแม้จะกล่าวมากมายถึงความแตกต่างของการตอกเข็มกับการกดเข็มแต่ในที่สุดตามคำร้องข้อ 4 ก็ขอให้ศาลถอนคำสั่งห้ามชั่วคราวอยู่นั่นเอง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าตึกโจทก์ร้าวเพราะการตอกเข็มเห็นชัดแจ้งถึงปานนี้แล้ว จะให้ศาลเพิกถอนคำสั่งอย่างไรได้ให้ยกคำร้อง จำเลยที่ 1 แถลงคัดค้านคำสั่งและอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายเสียหายน้อยที่สุดชอบที่ศาลชั้นต้นจะทำการไต่สวนคำร้องของจำเลยก่อนสั่ง พิพากษาให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของจำเลยแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปความ โจทก์ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยชอบแล้ว ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีได้ดำเนินการพิจารณาต่อมา ความเสียหายที่โจทก์ได้รับนั้นจำเลยปฏิเสธว่ามิใช่ความผิดของจำเลย แต่เป็นความผิดของนายสุนผู้รับเหมาทำการก่อสร้างจากจำเลย บัดนี้ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้นายสุน จำเลยที่ 3 ผู้รับเหมาทำการก่อสร้างซึ่งถูกโจทก์ขอให้เรียกเข้ามาเป็นจำเลยร่วม รับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1, 2 ให้ยกฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 260 คำสั่งที่กำหนดวิธีการชั่วคราวย่อมเป็นอันยกเลิกถ้าคดีนั้นศาลตัดสินให้จำเลยเป็นฝ่ายชนะหรือถ้าศาลตัดสินให้โจทก์ชนะ คำสั่งนั้นคงมีผลต่อไปจนกว่าจะได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งเท่าที่จำเป็นเพื่อบังคับตามคำพิพากษา แต่ถ้าโจทก์มิได้ขอหมายบังคับคดีภายในสิบห้าวันนับแต่วันสิ้นระยะเวลาที่กำหนดในคำบังคับ คำสั่งนั้นเป็นอันยกเลิก คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยใช้ค่าเสียหายอย่างเดียว หาได้ขอให้ห้ามจำเลยทำการก่อสร้างไม่ และการที่โจทก์ขอให้ห้ามก็เป็นการห้ามเฉพาะจำเลยที่ 1, 2 มิให้ทำการก่อสร้างโดยการตอกเสาเข็มเพียงชั่วคราวก่อนพิพากษา ศาลฎีกาเห็นว่า แม้โจทก์จะเป็นฝ่ายชนะคดีก็ตาม แต่โจทก์หาได้ฟ้องขอให้ห้ามจำเลยทำการก่อสร้างต่อไปไม่ ทั้งโจทก์จะขอให้บังคับคดีโดยห้ามมิให้จำเลยตอกเข็มหรือกดเข็มต่อไปด้วยก็ไม่ได้ คำสั่งห้ามชั่วคราวนี้จึงเป็นอันยกเลิกไปในตัว ในชั้นนี้ไม่มีปัญหาที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยว่า ควรทำการไต่สวนก่อนสั่งเพิกถอนดังศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่เพราะคดีของโจทก์ ศาลชั้นต้นได้พิพากษาแล้ว พิพากษาให้ยกฎีกาโจทก์.

Share