แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลในคดีอาญามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกันทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทเป็นเหตุให้สวนยางพาราของโจทก์เสียหาย โจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายจากการที่เพลิงไหม้สวนยางพาราซึ่งเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาททำให้สวนยางพาราของโจทก์เสียหาย ส่วนจำเลยที่ 1เป็นบุคคลนอกคดีส่วนอาญา ศาลจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนแพ่งต่อไป
จำเลยที่ 1 พาคนไปถางป่าในสวนแล้วจุดไฟเผาและขอให้จำเลยที่ 2 ช่วยดูแลไฟอย่าให้ลุกลาม จำเลยที่ 2 ได้ขอให้จำเลยที่ 3 ไปช่วยระวังไฟด้วย ถือไว้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการช่วยดูแลระมัดระวังมิให้เพลิงลุกลามไปยังที่อื่น แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดความระมัดระวังจนเป็นเหตุให้เพลิงลุกลามเข้าไปไหม้สวนยางพาราของโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในผลแห่งละเมิดด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420,427
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 144 เนื้อที่ประมาณ 62 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา โดยปลูกต้นยางพาราเป็นเวลาประมาณ 2 ปี จำเลยที่ 1 มีที่ดินติดต่อกับที่ของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตก โดยจำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวแทนดูแลที่ดินดังกล่าว เมื่อวันที่ 20 ถึง 22 เมษายน 2535 จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการได้ใช้หรือจ้างวานให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันจุดไฟเผาหญ้าและกอไผ่ในที่ดินของจำเลยที่ 1 ด้วยความประมาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ตระเตรียมอุปกรณ์ดับไฟและทำทางกันไฟทั้งไม่ได้จุดไฟเผาหญ้าและกอไผ่ให้ห่างจากแนวเขตสวนยางพาราของโจทก์ให้มาก และไม่ได้ดับไฟหมดเพื่อป้องกันไม่ให้ลมพัดเอาเปลวไฟและลูกไฟตกลงในบริเวณสวนยางพาราของโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ เป็นเหตุให้ไฟลุกลามเข้าไปไหม้สวนยางพาราของโจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 427,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้ จ้างหรือวานจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้จุดไฟเผาวัสดุในที่ดินของจำเลยที่ 1 และไม่ได้ใช้ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ช่วยระวังไฟมิให้ลุกลามออกนอกที่ดินด้วย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ดูแลที่ดินแทนโดยให้ระวังไฟด้วย เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2535 จำเลยที่ 1 ส่งคนงานจากจังหวัดชุมพรประมาณ 5 คน ให้ช่วยกันตัดไม้ไผ่กองสุมไว้เป็นกองแล้วจุดไฟเผา ซึ่งก่อนจุดไฟเผาได้ถางทางกันไฟระหว่างที่ดินของโจทก์กับที่ดินของจำเลยที่ 1 เป็นช่องกว้างไม่น้อยกว่า3 เมตร ยาวตลอดแนวเขต จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้เข้าไปสมทบด้วยเพียงแต่คอยระวังไม่ให้ไฟลามเข้าไปในสวนของโจทก์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เข้าไปดูแลระวังไฟร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย เมื่อเห็นว่าไฟดับมอดแล้วจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับผู้รับมอบอำนาจโจทก์จึงกลับ ในวันรุ่งขึ้นไม่มีผู้ใดจุดไฟเผาหญ้าหรือสิ่งอื่น และไม่มีไฟคุกรุ่นหรือลุกลามจากที่ดินของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 360,000บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายให้โจทก์ 325,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน2535 เป็นต้นไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นได้ว่า เมื่อวันที่ 22 เมษายน2535 สวนยางพาราของโจทก์ถูกเพลิงไหม้ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ถูกพนักงานอัยการจังหวัดระนองฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกอีกหลายคนซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้ร่วมกันกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทเป็นเหตุให้สวนยางพาราของโจทก์ได้รับความเสียหาย คดีถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามฟ้อง ปรากฏตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 226/2538 ของศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการแรกว่าจำเลยทั้งสามจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น ศาลในคดีอาญาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกันกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทเป็นเหตุให้สวนยางพาราของโจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 คดีนี้เรียกค่าเสียหายจากการที่เพลิงไหม้สวนยางพาราของโจทก์ จึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ข้อเท็จจริงในคดีนี้จึงต้องฟังว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3ร่วมกันกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาททำให้สวนยางพาราของโจทก์เสียหาย จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะฎีกาให้ศาลฟังข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้
ส่วนจำเลยที่ 1 นั้นเป็นบุคคลนอกคดีส่วนอาญา ศาลจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนแพ่งซึ่งได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจโทธาดา เพชรกาฬเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานประจำกองกำกับการวิทยาการ เขต 10 ซึ่งเป็นพยานร่วมของโจทก์และจำเลยที่ 1 มีความเห็นว่า ต้นเพลิงเกิดขึ้นที่สวนของจำเลยที่ 1 จากนั้นเพลิงได้ลุกลามเข้าไปไหม้ในสวนยางพาราของโจทก์ พยานปากนี้เป็นพยานร่วมจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ และสอดคล้องกับคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ที่ว่า หลังเกิดเหตุแล้วจำเลยที่ 1 ได้ไปหาโจทก์ยอมรับว่าคนจุดไฟในสวนเป็นลูกน้องของจำเลยที่ 1 ขอร้องไม่ให้โจทก์เอาความแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้ว จำเลยที่ 1 จะช่วยออกพันธุ์กล้าต้นยางพาราให้โจทก์ นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของนางเสาวนิตย์ โกยทอง ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ว่า ขณะที่เพลิงกำลังลุกไหม้อยู่ในสวนของจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 เฝ้าดูอยู่ด้วย ประกอบกับคำเบิกความของร้อยตำรวจโทศิริศักดิ์ หฤรักษ์ พนักงานสอบสวนในคดีอาญาว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับว่า เป็นผู้ควบคุมดูแลการจุดไฟ และได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ประกอบกับคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาว่าจำเลยที่ 2 เป็นหลานเขยของจำเลยที่ 1 ในวันที่20 เมษายน 2535 จำเลยที่ 1 พาคนไปถางป่าในสวนแล้วจุดไฟเผาได้ขอให้จำเลยที่ 2 ช่วยดูแลไฟอย่าให้ลุกลามด้วย จำเลยที่ 2 ได้ขอให้จำเลยที่ 3 ไปช่วยระวังไฟด้วย ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการช่วยดูแลระมัดระวังมิให้เพลิงลุกลามไปยังที่อื่น แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดความระมัดระวังจนเป็นเหตุให้เพลิงลุกลามเข้าไปไหม้สวนยางพาราของโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในผลแห่งละเมิดด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420, 427”
พิพากษายืน