คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3811/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาสินเชื่อ โดยกำหนดให้โจทก์ทั้งสามดำเนินการด้านนิติกรรมสัญญาและเบิกใช้วงเงินจำนวน 656,000,000 บาท กับจำเลยให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2557 โดยเสนอเงื่อนไขและข้อบังคับวงเงินสินเชื่อให้โจทก์ทั้งสามมีหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมการจัดการสินเชื่อ (Front end Fee) จำนวน 13,120,000 บาท แก่จำเลยในวันลงนามในสัญญาสินเชื่อและดำเนินการด้านนิติกรรมสัญญากับเบิกใช้วงเงินกับค่าธรรมเนียมในวันที่ 31 ตุลาคม 2557 ข้อตกลงที่จำเลยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการสินเชื่อ (Front end Fee) เป็นข้อตกลงที่แยกต่างหากจากการคิดดอกเบี้ยในการเบิกใช้วงเงินดังกล่าว ข้อตกลงชำระค่าธรรมเนียมเช่นนี้จึงมีลักษณะของการตอบแทนการใช้วงเงินสินเชื่อตามเอกสารสัญญาสินเชื่อที่โจทก์ทั้งสามกับจำเลยลงนาม ซึ่งหากมิได้มีการลงนามในสัญญาสินเชื่อแล้ว โจทก์ทั้งสามไม่อาจเบิกใช้วงเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยอันมีลักษณะเป็นเงื่อนไขบังคับก่อน ทั้งแสดงว่าโจทก์ทั้งสามและจำเลยมีเจตนาถือเอาตามสัญญาสินเชื่อเป็นสำคัญตาม ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง เมื่อปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ไม่สามารถดำเนินการให้ ป. จ. และ ว. กรรมการโจทก์ที่ 1 ในขณะนั้น มาลงนามในสัญญาดังกล่าวกับจำเลยภายในระยะเวลาที่กำหนด ดังนี้ สัญญากู้เงินหรือสัญญาสินเชื่อระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ โจทก์ทั้งสามย่อมไม่มีสิทธิเบิกเงินสินเชื่อตามที่จำเลยเคยอนุมัติให้ และจำเลยย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าธรรมเนียมการจัดการสินเชื่อ (Front end Fee) จากโจทก์ทั้งสามตามที่ตกลงกันไว้ แต่การที่จำเลยระบุไว้ในเงื่อนไขและข้อบังคับวงเงินสินเชื่อให้โจทก์ทั้งสามชำระค่าธรรมเนียมการจัดการสินเชื่อบางส่วน 9,560,000 บาท ในวันที่โจทก์ทั้งสามลงนามตอบรับในหนังสือดังกล่าว และหากโจทก์ทั้งสามไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ จำเลยมีสิทธิริบเงินดังกล่าวโดยไม่ต้องคืนแก่โจทก์ทั้งสาม อันมีลักษณะของสัญญาอย่างหนึ่งที่โจทก์ทั้งสามสัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนกระทำการหรืองดเว้นกระทำการอันหนึ่งอันใดนั้นด้วยดังที่บัญญัติใน ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคสอง ซึ่งเบี้ยปรับนั้นหากสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ เมื่อโจทก์ทั้งสามเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ลงนามในสัญญาสินเชื่อกับจำเลย จำเลยย่อมมีสิทธิริบเงิน 9,560,000 บาท ที่ได้รับมาจากโจทก์ทั้งสามในฐานะเบี้ยปรับอันเป็นการใช้สิทธิตามข้อตกลงในสัญญาโดยชอบ จำเลยมีสิทธิปฏิเสธไม่คืนเงินแก่โจทก์ทั้งสามได้โดยไม่ถือว่าเป็นการผิดนัด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสาม เมื่อต่อมาศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่าเงินทั้งหมดที่จำเลยรับมาจากโจทก์ทั้งสามเป็นเบี้ยปรับแล้วใช้ดุลพินิจให้ลดเบี้ยปรับลงเหลือ 2,000,000 บาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคสอง เป็นผลให้จำเลยต้องคืนเบี้ยปรับบางส่วนแก่โจทก์ทั้งสามเป็นเงิน 7,560,000 บาท ซึ่งหาเป็นความผิดของจำเลยไม่ โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืนเพราะการรับเงินดังกล่าวของจำเลยเป็นการใช้สิทธิโดยชอบ

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินพร้อมค่าเสียหายจำนวน 10,212,882.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 9,560,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน 6,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสามชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสามและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 7,560,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 15,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสามชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยเกี่ยวกับการให้โจทก์ทั้งสามชำระค่าธรรมเนียมการจัดการวงเงินสินเชื่อ (Front end Fee) ซึ่งคิดอัตราร้อยละ 2 ของวงเงินสินเชื่อเป็นเงิน 13,120,000 บาท โดยให้โจทก์ทั้งสามแบ่งชำระ 9,560,000 บาท ในวันลงนามตอบรับเงื่อนไขและข้อบังคับวงเงินสินเชื่อส่วนที่เหลือ 3,560,000 บาท ชำระในวันที่ลงนามในสัญญาสินเชื่อ โดยค่าธรรมเนียมที่โจทก์ทั้งสามชำระให้จำเลยมาแล้ว หากโจทก์ที่ 1 ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อบังคับได้หรือไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม จำเลยจะไม่คืนเงินส่วนนี้ให้ มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาสินเชื่อ ลงวันที่ 2 กันยายน 2557 โดยกำหนดให้โจทก์ทั้งสามดำเนินการด้านนิติกรรมสัญญาและเบิกใช้วงเงินจำนวน 656,000,000 บาท กับจำเลยให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2557 โดยเสนอเงื่อนไขและข้อบังคับวงเงินสินเชื่อให้โจทก์ทั้งสามมีหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมการจัดการสินเชื่อ (Front end Fee) จำนวน 13,120,000 บาท แก่จำเลยในวันลงนามในสัญญาสินเชื่อและดำเนินการด้านนิติกรรมสัญญากับเบิกใช้วงเงินกับค่าธรรมเนียมในวันที่ 31 ตุลาคม 2557 ซึ่งโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้ลงชื่อตกลงตามเงื่อนไขและข้อบังคับดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่าจำเลยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการสินเชื่อ (Front end Fee) แยกต่างหากจากการคิดดอกเบี้ยในการเบิกใช้วงเงินดังกล่าว ข้อตกลงชำระค่าธรรมเนียมเช่นนี้ จึงมีลักษณะของการตอบแทนการใช้วงเงินสินเชื่อตามเอกสารสัญญาสินเชื่อที่โจทก์ทั้งสามกับจำเลยได้ลงนาม ซึ่งหากมิได้มีการลงนามในสัญญาสินเชื่อแล้ว โจทก์ทั้งสามก็ไม่อาจเบิกใช้วงเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลย อันมีลักษณะเป็นเงื่อนไขบังคับก่อน ทั้งแสดงว่าโจทก์ทั้งสามและจำเลยมีเจตนาถือเอาตามสัญญาสินเชื่อเป็นสำคัญ กรณีจึงตกอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ถ้าได้ตกลงกันว่าสัญญาอันมุ่งจะทำนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือไซร้ เมื่อกรณีเป็นที่สงสัยท่านนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำเป็นหนังสือ” อย่างไรก็ดีก่อนถึงกำหนดวันที่ 31 ตุลาคม 2557 โจทก์ที่ 2 และที่ 3 มีหนังสือลงวันที่ 29 ตุลาคม 2557 ไปถึงจำเลยโดยขอขยายระยะเวลาการสนับสนุนวงเงินสินเชื่อออกไปอีก 90 วัน แต่จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 ให้ขยายระยะเวลาการทำนิติกรรมสัญญาและเบิกใช้วงเงินดังกล่าวออกไปอีก 60 วัน โดยจำเลยขยายระยะเวลาลงนามในหนังสือสัญญากู้เงินตามเอกสารต่าง ๆ ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2557 และต้องใช้วงเงินภายในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558 ตามสำเนาเงื่อนไขและข้อบังคับวงเงินสินเชื่อ และสัญญากู้เงิน แม้ตามข้อ 10.1 ของเงื่อนไขและข้อบังคับวงเงินสินเชื่อ มีการเปลี่ยนแปลงบางประการโดยระบุให้โจทก์ทั้งสามแบ่งชำระเงินค่าธรรมเนียมการจัดการสินเชื่อ (Front end Fee) จำนวน 9,560,000 บาท แก่จำเลยในวันที่ลงนามตอบรับในหนังสือตอบรับเงื่อนไขและข้อบังคับวงเงินสินเชื่อ และอีกจำนวน 3,560,000 บาท ให้ชำระในวันที่ลงนามในสัญญาสินเชื่อโดยกำหนดว่าหากผู้กู้ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขและข้อกำหนดในสัญญาสินเชื่อ ค่าธรรมเนียมดังกล่าวไม่ถือเป็นการผูกพันธนาคารในการต้องให้วงเงินสินเชื่อแก่ผู้กู้ และธนาคารจะไม่คืน แม้ผู้กู้จะไม่เบิกใช้วงเงินก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาถึงสัญญากู้เงินที่บังคับให้ทั้งสองฝ่ายต้องลงนาม ยังระบุไว้ในข้อ 5.1 ว่า ผู้กู้ตกลงจ่ายค่าธรรมเนียมให้แก่ผู้ให้กู้ ตามรายละเอียดดังนี้ ข้อ 5.1.1 “ค่าธรรมเนียมการให้เงินกู้ (Front end Fee) ในอัตราร้อยละ 2 ของวงเงินกู้ตามสัญญานี้ ซึ่งคิดเป็นค่าธรรมเนียม 13,120,000 บาท โดยชำระทั้งจำนวนในวันทำสัญญานี้” ยิ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ค่าธรรมเนียมการให้วงเงินกู้ (Front end Fee) มีลักษณะเป็นการที่โจทก์ทั้งสามให้เป็นค่าตอบแทนจำเลยในการทำสัญญากู้เพื่อจะได้มีสิทธิเบิกใช้วงเงินตามที่จำเลยให้สินเชื่อได้ เมื่อปรากฏว่าต่อมาโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ไม่สามารถดำเนินการให้นายปริญญา นายจรินทร์ และนายวิกรม กรรมการของโจทก์ที่ 1 ในขณะนั้น มาลงนามในสัญญาดังกล่าวกับจำเลยภายในระยะเวลาที่กำหนด ดังนี้ สัญญากู้เงินหรือสัญญาสินเชื่อระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ โจทก์ทั้งสามย่อมไม่มีสิทธิเบิกเงินสินเชื่อตามที่จำเลยเคยอนุมัติให้ และจำเลยย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าธรรมเนียมการจัดการสินเชื่อ (Front end Fee) จากโจทก์ทั้งสามตามที่ตกลงกันไว้เช่นกัน แต่การที่จำเลยระบุไว้ในเงื่อนไขและข้อบังคับวงเงินสินเชื่อ ให้โจทก์ทั้งสามชำระค่าธรรมเนียมการจัดการสินเชื่อบางส่วนรวมเป็นเงิน 9,560,000 บาท ในวันที่โจทก์ทั้งสามลงนามตอบรับในหนังสือดังกล่าว และหากโจทก์ทั้งสามไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ จำเลยมีสิทธิริบเงินดังกล่าวโดยไม่ต้องคืนแก่โจทก์ทั้งสาม อันมีลักษณะของสัญญาอย่างหนึ่งที่โจทก์ทั้งสามสัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนกระทำการหรืองดเว้นกระทำการอันหนึ่งอันใดนั้นด้วย ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคสอง ซึ่งเบี้ยปรับนั้นหากสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ที่จำเลยฎีกาว่า ข้อตกลงตามสัญญามิใช่ข้อตกลงที่กำหนดล่วงหน้าให้เป็นเบี้ยปรับนั้นฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการต่อไปมีว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายแก่จำเลย 2,000,000 บาท น้อยเกินไปหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยพิจารณาขยายระยะเวลาในการลงนามไปถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2557 จากนั้นโจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิเบิกใช้วงเงินสินเชื่อได้ภายในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558 จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่าก่อนการลงนามในสัญญาโจทก์ทั้งสามไม่อาจเบิกใช้วงเงินได้และจำเลยยังไม่คิดดอกเบี้ยจนกว่าจะมีการเบิกใช้วงเงิน ดังนั้น เหตุผลที่จำเลยอ้างถึงการปล่อยเงินกู้แก่ลูกค้ารายอื่นและจะได้รับผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าว จึงนับว่าเลื่อนลอย ทั้งจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่าในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวมีลูกค้ารายใดติดต่อขออนุมัติสินเชื่อจากจำเลยรวมเป็นยอดเงินถึง 656,000,000 บาท จึงไม่เพียงพอที่จะถือว่าจำเลยได้รับความเสียหายดังที่กล่าวอ้าง ส่วนการจัดเตรียมเอกสารในส่วนการวิเคราะห์ก็เป็นหน้าที่ของพนักงานของจำเลยที่จะต้องปฏิบัติตามหน้าที่ปกติอยู่แล้ว จำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่าออกค่าใช้จ่ายส่วนใดเป็นพิเศษ ที่ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของจำเลยทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้วใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงเหลือ 2,000,000 บาท นับว่าเป็นจำนวนพอสมควรแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาประการสุดท้ายมีว่า ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2557 ชอบหรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์ทั้งสามเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ลงนามในสัญญาสินเชื่อกับจำเลยภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2557 จำเลยย่อมมีสิทธิริบเงิน 9,560,000 บาท ที่ได้รับมาจากโจทก์ทั้งสามทั้งหมดในฐานะเบี้ยปรับนับแต่วันผิดนัดคือวันที่ 31 ธันวาคม 2557 อันเป็นการใช้สิทธิตามข้อตกลงในสัญญาโดยชอบ แม้โจทก์ทั้งสามจะมีหนังสือถึงจำเลยเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 ให้จำเลยคืนเงินทั้งหมด แต่จำเลยก็มีสิทธิปฏิเสธไม่คืนเงินแก่โจทก์ทั้งสามได้โดยไม่ถือว่าเป็นการผิดนัด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสาม เมื่อต่อมาศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่าเงินทั้งหมดที่จำเลยรับมาจากโจทก์ทั้งสามเป็นเบี้ยปรับแล้วใช้ดุลพินิจให้ลดเบี้ยปรับลงเหลือเป็นจำนวน 2,000,000 บาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคสอง เป็นผลให้จำเลยต้องคืนเบี้ยปรับบางส่วนแก่โจทก์ทั้งสามเป็นเงิน 7,560,000 บาท ซึ่งหาใช่ความผิดของจำเลยไม่ โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืนเพราะการรับเงินดังกล่าวของจำเลยเป็นการใช้สิทธิโดยชอบ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในจำนวนเงินที่ต้องคืนจึงไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องชำระดอกเบี้ยในเงิน 7,560,000 บาท ที่ต้องคืนแก่โจทก์ทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share