แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
บทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นกฎหมายพิเศษที่ศาลมีอำนาจค้นหาข้อเท็จจริงโดยไม่จำต้องกระทำต่อหน้าผู้ถูกกล่าวหาหรือต่อหน้าจำเลยดังเช่นการพิจารณาคดีอาญาทั่วไปและการที่จะสอบปากคำผู้รู้เห็นข้อเท็จจริงเป็นจำนวนมากน้อยเพียงใดเป็นเรื่องดุลพินิจของศาล เมื่อเห็นว่าข้อเท็จจริงได้ความชัดพอที่จะวินิจฉัยชี้ขาดว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจริงหรือไม่แล้ว ก็ชอบที่จะวินิจฉัยชี้ขาดไปตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้เลย
ย่อยาว
กรณีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษนายวิชัย โฉยศรีจำเลยในความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ให้จำคุก 9 เดือน ริบของกลางจำเลยอุทธรณ์ นางคำใหม่ ทานะมัย ผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของหลักประกันได้ยื่นคำร้องขอปล่อยจำเลยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นอนุญาต ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2530 ปรากฎว่าศาลอุทธรณ์พิพากษายืนต่อมาความปรากฎต่อศาลชั้นต้นว่าผู้มีมาแสดงตัวเป็นจำเลยในการฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คือนายบาง ยะล้อม และนายบางกำลังรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แทนจำเลยศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกนายบางในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล 3เดือนสำหรับผู้ถูกกล่าวหานั้น ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว ฟังข้อเท็จจริงว่าผู้ถูกกล่าวหาจ้างนายบางให้มาแสดงตัวต่อศาลว่าเป็นจำเลยและฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แทนจำเลย การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1)และ 33 ให้จำคุก 6 เดือน
ผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ถูกกล่าวหาฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ผู้ถูกกล่าวหาฎีกาว่า ศาลชั้นต้นไต่สวนนายบางลับหลังผู้ถูกกล่าวหา ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีโอกาสซักค้านนายบาง ทั้งมิได้ไต่สวนจำเลยเพื่อให้เห็นชัดว่าใครเป็นผู้ว่าจ้างนายบางมารับโทษจำคุกกันแน่ ขอให้ศาลฎีกาสั่งให้ศาลชั้นต้นไต่สวนใหม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาล ถ้าได้กระทำต่อหน้าศาลหรือข้อเท็จจริงอันเป็นความผิดปรากฎชัดแล้ว ศาลย่อมลงโทษผู้กระทำความผิดได้ทันที สำหรับคดีนี้ศาลยังไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฎต่อศาลนั้นจะเป็นความผิดหรือไม่ และผู้ใดเป็นผู้กระทำ ศาลก็ชอบที่จะไต่สวนหาความจริงในภายหลังได้และบทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นกฎหมายพิเศษที่ศาลมีอำนาจค้นหาข้อเท็จจริงโดยไม่จำต้องกระทำต่อหน้าผู้ถูกกล่าวหาหรือต่อหน้าจำเลยดังเช่นการพิจารณาคดีอาญาทั่วไปและการที่จะสอบปากคำผู้รู้เห็นข้อเท็จจริงเป็นจำนวนมากน้อยเพียงใดเป็นเรื่องดุลพินิจของศาล เมื่อเห็นว่าข้อเท็จจริงได้ความชัดพอที่จะวินิจฉัยชี้ขาดว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจริงหรือไม่แล้ว ก็ชอบที่จะวินิจฉัยชี้ขาดไปตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้เลยดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นบันทึกปากคำนายบางผู้มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และรับโทษจำคุกแทนจำเลย กับบันทึกปากคำผู้ถูกกล่าวหาในแบบพิมพ์คำให้การพยานเพียง 2 ปากเท่านั้นโดยให้ปฏิญาณหรือสาบานตนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ มาตรา 112 และการบันทึกปากคำนายบางมิได้กระทำต่อหน้าผู้ถูกกล่าวหาจึงมิใช่กระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่มีเหตุที่จะพิพากษาให้ศาลชั้นต้นไต่สวนใหม่ ฎีกาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน