คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3804/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จัดการงานนอกสั่งนั้น ป.พ.พ. มาตรา 395 บัญญัติว่า “บุคคลใดเข้าทำกิจการแทนผู้อื่นโดยเขามิได้ว่าขานวานใช้ให้ทำก็ดี หรือโดยมิได้มีสิทธิที่จะทำการงานนั้นแทนผู้อื่นด้วยประการใดก็ดี…” ดังนั้น บุคคลใดที่จะเข้าทำกิจการแทนผู้อื่น เช่น โจทก์เข้าไปชำระค่าใช้จ่าย ค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา แทนจำเลยนั้น เข้าทำกิจการแทนได้เลยโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าตัวการจะขอให้ทำหรือมีสิทธิทำแทนหรือไม่ ยิ่งในกรณีคดีนี้เข้าทำกิจการอันเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของจำเลย คือเป็นการจัดการดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 33 และตามข้อบังคับของจำเลยและตาม ป.พ.พ. มาตรา 397 ถ้าโจทก์ไม่เข้าชำระค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้าส่วนกลาง แทนจำเลยแล้ว อาจไม่ทันท่วงทีเป็นเหตุให้ทางการไฟฟ้านครหลวงและการประปานครหลวงตัดน้ำตัดไฟของอาคารชุด การที่เข้าทำนี้ยังเข้าข้อยกเว้นไม่ต้องคำนึงว่าจะขัดกับความประสงค์ของตัวการคือจำเลย โจทก์เข้าทำได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยจะต้องการหรือไม่ และเมื่อโจทก์ทำการตามมาตรา 397 นี้แล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชดใช้เงินอันตนได้ออกไปคืนแก่โจทก์อย่างเช่นโจทก์เป็นตัวแทนจำเลยได้ตามมาตรา 401

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 19 ธันวาคม 2551) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับและไม่โต้เถียงกันฟังยุติว่า อาคารชุดสาธร บริดจ ทาวเวอร์ มีห้องชุดจำนวน 167 ห้อง เดิมมีบริษัท สาธร แลนด์ แอนด์ บริดจ จำกัด เจ้าของโครงการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ บริษัทดังกล่าวขายห้องชุดไป 40 ห้อง ยังคงเหลืออีก 127 ห้อง วันที่ 12 มกราคม 2539 มีการจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยขึ้นเพื่อจัดการและดูแลทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดดังกล่าว โดยมีนายอภิพล เป็นผู้จัดการตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2542 ตามหนังสือสำคัญการจดทะเบียน ระหว่างที่นายอภิพลเป็นผู้จัดการจำเลย นายอภิพลนำห้องชุดของบริษัทสาธร แลนด์แอนด์ บริดจ จำกัด ที่เหลือทั้งหมดออกให้บุคคลภายนอกเช่า ต่อมาปี 2546 บริษัทสาธร แลนด์ แอนด์ บริดจ จำกัด ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ต่อมาวันที่ 14 พฤศจิกายน 2548 นายอภิพลถึงแก่ความตาย โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายอภิพล โจทก์เข้าทำธุรกิจนำห้องชุดของบริษัทสาธร แลนด์ แอนด์ บริดจ จำกัด ออกให้บุคคล ภายนอกเช่าและดูแลกิจการของจำเลยแทนนายอภิพล จนกระทั่งมีนายสมชาย เป็นผู้จัดการคนใหม่ของจำเลย เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2549 แต่โจทก์ยังคงทำธุรกิจให้เช่าห้องชุดของบริษัทสาธร แลนด์ แอนด์ บริดจ จำกัด เรื่อยมาและชำระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาของอาคารชุดจำเลย ต่อมา ระหว่างเดือนมกราคม 2550 ถึงเดือนพฤษภาคม 2550 โจทก์ชำระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาของอาคารชุดจำเลยตามใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี หักส่วนที่โจทก์จะต้องรับผิดชอบออกแล้วเรียกให้จำเลยชำระค่าใช้จ่าย 300,000 บาท โดยอ้างว่าเป็นค่าใช้จ่ายส่วนกลาง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยสุจริตหรือไม่ เห็นว่า จัดการงานนอกสั่งที่โจทก์อ้างเป็นหลักแห่งข้อหาของฟ้องโจทก์นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 395 บัญญัติว่า “บุคคลใดเข้าทำกิจการแทนผู้อื่นโดยเขามิได้ว่าขานวานใช้ให้ทำก็ดี หรือโดยมิได้มีสิทธิที่จะทำการงานนั้นแทนผู้อื่นด้วยประการใดก็ดี…….” ดังนั้นบุคคลใดที่จะเข้าทำกิจการแทนผู้อื่น เช่น โจทก์เข้าไปชำระค่าใช้จ่าย ค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปา แทนจำเลยนั้น เข้าทำกิจการแทนได้เลยโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าตัวการจะขอให้ทำหรือมีสิทธิทำแทนหรือไม่ ยิ่งในกรณีคดีนี้เข้าทำกิจการอันเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของจำเลย คือเป็นการจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดสาธร บริดจ ทาวเวอร์ ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 33 และตามข้อบังคับของจำเลยและตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 397 ถ้าโจทก์ไม่เข้าชำระค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้าส่วนกลาง แทนจำเลยแล้ว อาจจะไม่ทันท่วงทีเป็นเหตุให้ทางการไฟฟ้านครหลวงและการประปานครหลวงตัดน้ำตัดไฟของอาคารชุด เป็นที่เดือดร้อนของเจ้าของร่วมของห้องชุดและอาคารชุดที่เป็นส่วนกลาง การที่เข้าทำนี้ยังเข้าข้อยกเว้นไม่ต้องคำนึงว่าจะขัดกับความประสงค์ของตัวการคือจำเลย โจทก์เข้าทำได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยจะต้องการหรือไม่ และเมื่อโจทก์ทำการตามมาตรา 397 นี้ แล้วโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชดใช้เงินอันตนได้ออกไปคืนแก่โจทก์อย่างเช่น โจทก์เป็นตัวแทนจำเลยได้ ตามมาตรา 401 เห็นว่า พฤติการณ์ของโจทก์มีกฎหมายกำหนดไว้ว่า เมื่อได้ทำการดั่งนั้นแล้ว โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยชดใช้เงินที่ได้ชำระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาจากจำเลยได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 9,000 บาท

Share