คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3803/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยมาขอกู้ยืมเงินจากโจทก์ โดยเอาหนังสือรับรองการทำประโยชน์มาให้โจทก์ยึดถือเป็นประกันโจทก์ตกลง ให้กู้ยืมแต่เห็นว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวมีชื่ออ. เป็นเจ้าของที่ดิน จึงมอบหนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่กรอกข้อความ แล้วให้จำเลยเอาไปให้อ.ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ จำเลยนำ หนังสือสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวไปแล้วนำมาคืนให้โจทก์โดยใช้อุบาย หลอกลวงโจทก์ว่าอ.ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้แล้วโจทก์หลงเชื่อจึงให้เงินแก่จำเลยและยึดถือหนังสือสัญญากู้ยืมเงินไว้ต่อมาเมื่อหนี้ ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินถึงกำหนดชำระแล้ว โจทก์ทวงถามให้ อ. ชำระหนี้แต่อ. ปฏิเสธว่าไม่เคยกู้ยืมเงินโจทก์ลายมือชื่อ อ. ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเป็นลายมือชื่อปลอมการที่จำเลยใช้อุบาย หลอกลวงโจทก์ให้หลงเชื่อดังกล่าวทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ดังนี้ สภาพแห่งข้อหาตามที่โจทก์บรรยายในคำฟ้องเป็นเรื่องที่ขอให้ จำเลยรับผิดในมูลละเมิด เป็นคำฟ้องที่แสดงสภาพแห่งข้อหาและ คำขอบังคับตลอดจนข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาโดยแจ้งชัด แม้จะมิได้ส่งสำเนาเอกสารที่กล่าวในคำบรรยายฟ้องมาพร้อม คำฟ้องด้วยคำฟ้องโจทก์ก็ไม่เคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมาขอกู้ยืมเงินจากโจทก์ 70,000 บาท โจทก์ตกลงให้กู้ยืมโดยให้จำเลยนำนางอรุณภริยาจำเลยมาทำสัญญากู้ยืมเพราะหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่จำเลยจะนำมาให้โจทก์ยึดถือเป็นประกันมีชื่อนางอรุณเป็นเจ้าของโจทก์มอบหนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่กรอกข้อความแล้วให้จำเลยไปเพื่อให้นางอรุณลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ จำเลยนำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินไปแล้วนำมาคืนให้โจทก์โดยใช้อุบายหลอกลวงโจทก์ว่า นางอรุณลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้แล้ว โจทก์หลงเชื่อจึงให้เงินแก่จำเลยไปและยึดถือหนังสือสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวไว้ ในวันที่จำเลยมาขอกู้ยืมเงินนั้นจำเลยได้ทำหนังสือรับรองไว้แก่โจทก์ว่าลายมือชื่อในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเป็นลายมือชื่อของนางอรุณ หากเกิดความเสียหายขึ้นจำเลยยอมรับผิด ต่อมาเมื่อหนี้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินถึงกำหนดชำระแล้วโจทก์ทวงถาม แต่นางอรุณปฏิเสธว่าไม่เคยกู้ยืมเงินจากโจทก์ ลายมือชื่อนางอรุณในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเป็นลายมือชื่อปลอม การที่จำเลยใช้อุบายหลอกลวงโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจะต้องชดใช้เงิน 70,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันรับเงินไปจากโจทก์ ขอบังคับจำเลยให้ชำระพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยขอกู้ยืมเงินโจทก์ เคยขอกู้จากนายจินดาแต่ระหว่างติดต่อกันนายจินดาตายเสียก่อน โจทก์สมคบกับทายาทของนายจินดาว่าจำเลยนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์มาติดต่อขอกู้จากโจทก์ ความจริงจำเลยนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์มาให้นายจินดาตรวจสอบเพื่อขอกู้จากนายจินดา จำเลยไม่เคยทำหนังสือรับรองว่าลายมือชื่อผู้กู้ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์อ้างเป็นลายมือชื่อของนางอรุณ หากมีลายมือชื่อจำเลยในหนังสือรับรองก็เป็นลายมือชื่อปลอม คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายสภาพแห่งข้อหาให้ชัดแจ้งว่าการรับรองลายมือชื่อตามฟ้องจำเลยจะต้องรับผิดในฐานะผู้ทำละเมิดหรือผู้ค้ำประกัน อีกทั้งไม่ส่งสำเนาหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือรับรองทำให้หลงข้อต่อสู้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า คำฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม จำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ให้จำเลยชำระเงินตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยมาขอกู้ยืมเงินจากโจทก์โดยเอาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) มาให้โจทก์ยึดถือเป็นประกันโจทก์ตกลงให้กู้ยืมแต่เห็นว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ดังกล่าวมีชื่อนางอรุณภริยาจำเลยเป็นเจ้าของที่ดิน โจทก์จึงมอบหนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่กรอกข้อความแล้วให้จำเลยเอาไปให้นางอรุณลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ จำเลยนำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวไปแล้วนำมาคืนให้โจทก์ โดยใช้อุบายหลอกลวงโจทก์ว่านางอรุณลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้แล้ว โจทก์หลงเชื่อจึงให้เงินแก่จำเลยและยึดถือหนังสือสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวไว้ ต่อมาเมื่อหนี้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวถึงกำหนดชำระแล้ว โจทก์ทวงถามให้นางอรุณชำระหนี้ แต่นางอรุณปฏิเสธว่าไม่เคยกู้ยืมเงินโจทก์ ลายมือชื่อนางอรุณในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นลายมือชื่อปลอม การที่จำเลยใช้อุบายหลอกลวงโจทก์ให้หลงเชื่อดังกล่าวทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ดังนี้ สภาพแห่งข้อหาตามที่โจทก์บรรยายในคำฟ้องเป็นเรื่องที่ขอให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิด และเป็นคำฟ้องที่แสดงสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับตลอดจนข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาโดยแจ้งชัด แม้จะมิได้ส่งสำเนาเอกสารที่กล่าวในคำบรรยายฟ้องมาพร้อมคำฟ้อง คำฟ้องของโจทก์ก็ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 ไม่เคลือบคลุม
พิพากษายืน

Share