คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3801-3802/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการชำระหนี้แต่ละครั้งนั้นเมื่อไม่มีการตกลงเป็นอย่างอื่นต้องชำระดอกเบี้ยที่ค้างอยู่เสียก่อน หลังจากนั้นเหลือเงินเท่าใดจึงนำไปชำระเงินต้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์แต่ละคราวจึงต้องคำนวณเสียก่อนว่ามีดอกเบี้ยที่ค้างชำระมาจนถึงวันชำระเป็นเงินเท่าใด เมื่อมีเงินเหลือจากการชำระดอกเบี้ยแล้วก็นำไปชำระเงินต้นซึ่งอาจทำให้เงินต้นเหลือลดลงไปและดอกเบี้ยต่อจากนั้นก็ลดลงไปด้วยเช่นเดียวกัน
จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระหนี้ด้วยการออกและโอนเช็คให้โจทก์รวม 20 ครั้ง ต้องถือว่าหนี้ส่วนที่ชำระด้วยเช็คระงับสิ้นไปเมื่อเช็คได้ใช้เงินแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคสาม เช็คดังกล่าว จึงถือเป็นการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ในวันที่เรียกเก็บเงินจากธนาคาร
คดีสำหรับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 โจทก์แยกฟ้องมาเป็นคนละสำนวนซึ่งมีคำขอบังคับจำเลยแต่ละคนแยกต่างหากจากกัน แม้ศาลชั้นต้นจะรวมพิจารณาเข้าด้วยกันแล้ว เมื่อจะพิจารณาคดีรวมกันก็ต้องคำนึงถึงคำขอของแต่ละสำนวนด้วยว่ามีอยู่อย่างไร คดีสำนวนของจำเลยที่ 1 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์เพียงอย่างเดียว ไม่ได้มีคำขอบังคับจำนองด้วย ส่วนคดีสำนวนของจำเลยที่ 2 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ชำระเงินให้โจทก์ ถ้าไม่ชำระจึงขอให้บังคับจำนอง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ผู้เดียวเท่านั้นที่กู้ยืมเงินจากโจทก์ แต่จำเลยที่ 2 มิได้กู้ยืมเงินจากโจทก์ ย่อมไม่มีกรณีที่จะต้องบังคับจำนองแก่ที่ดินของจำเลยที่ 2 การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่ชำระให้บังคับจำนองแก่ที่ดินของจำเลยที่ 2 และศาลอุทธรณ์มิได้แก้ไขจึงเป็นการพิพาทเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องสำนวนคดีของจำเลยที่ 1 อันเป็นการมิชอบ กรณีเช่นนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์หรือฎีกา

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเป็นคดีเดียวกัน โดยเรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2537 จำเลยทั้งสองได้กู้ยืมเงินจากโจทก์เป็นเงินจำนวนคนละ 4,000,000 บาท ตกลงเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน เดือนละครั้งโดยจำเลยที่ 2 ได้นำโฉนดที่ดินเลขที่ 34108 พร้อมสิ่งปลูกสร้างจดทะเบียนจำนองเป็นประกัน จำเลยทั้งสองไม่ได้ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามข้อตกลง โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินต่อไปอีก ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ 5,252,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยจากต้นเงินจำนวน 4,000,000 บาท และขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์ 5,252,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยจากต้นเงินจำนวน 4,000,000 บาท หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระให้บังคับจำนองยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 34108 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและจำเลยที่ 2 แก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยกู้ยืมเงิน 4,000,000 บาท จากโจทก์ ความจริงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาจำเลยที่ 2 ได้ขอกู้ยืมเงินโจทก์ 4,000,000 บาท แต่โจทก์มอบเงินให้จำเลยที่ 1 บางส่วนเพียง 3,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์รวม 21 ครั้ง รวมต้นเงินและดอกเบี้ย 2,545,000 บาท เมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้วจำเลยที่ 1 คงค้างชำระเงินต้น 1,049,007.13 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 2,078,767.12 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 34108 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 กันยายน 2537 โดยให้หักเงิน 2,210,000 บาท ออกจากดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้หักเงิน 2,210,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์ออกจากดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่โจทก์เป็นการชอบหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้เห็นว่า ในการชำระหนี้แต่ละครั้งนั้นเมื่อไม่มีการตกลงเป็นอย่างอื่นต้องชำระดอกเบี้ยที่ค้างอยู่เสียก่อน หลังจากนั้นเหลือเงินเท่าใดจึงนำไปชำระต้นเงิน ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์แต่ละคราวจึงต้องคำนวณเสียก่อนว่ามีดอกเบี้ยที่ค้างชำระมาจนถึงวันชำระเป็นเงินเท่าใด เมื่อมีเงินเหลือจากชำระดอกเบี้ยแล้วก็นำไปชำระต้นเงินซึ่งอาจทำให้เงินเหลือลดลงไปและดอกเบี้ยต่อจากนั้นก็ลดลงไปด้วยเช่นเดียวกัน ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผ่อนชำระหนี้ด้วยการออกและโอนเช็คให้โจทก์รวม 20 ครั้ง ซึ่งต้องถือว่าหนี้ส่วนที่ชำระด้วยเช็คระงับสิ้นไปเมื่อเช็คได้ใช้เงินแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคสาม เช็คตามเอกสารหมาย ล.2 ถึง ล.15 และ ล.17 ถึง ล.22 จึงถือเป็นการชำระหนี้ในวันที่เรียกเก็บเงินจากธนาคารตามที่ปรากฏในสำเนาบัญชีกระแสรายวัน การชำระหนี้ทุกครั้งจึงต้องชำระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นก่อนวันชำระ หากมีเงินเหลือก็นำไปชำระต้นเงิน ที่ศาลอุทธรณ์ให้หักเงิน 2,210,000 บาท ออกจากดอกเบี้ยค้างชำระนับแต่วันที่ 13 กันยายน 2537 เป็นต้นไปจึงไม่ถูกต้อง ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
อนึ่ง คดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์แยกฟ้องมาเป็นคนละสำนวนซึ่งมีคำขอบังคับจำเลยแต่ละคน แยกต่างหากจากกัน แม้ศาลชั้นต้นจะรวมพิจารณาเข้าด้วยกันแล้ว เมื่อจะพิพากษาคดีรวมกันก็ต้องคำนึงถึงคำขอของแต่ละสำนวนด้วยว่ามีอยู่อย่างไร คดีสำนวนของจำเลยที่ 1 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์เพียงอย่างเดียว ไม่ได้มีคำขอบังคับจำนองด้วย ส่วนคดีสำนวนของจำเลยที่ 2 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ชำระเงินให้โจทก์ ถ้าไม่ชำระจึงขอให้บังคับจำนอง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ผู้เดียวเท่านั้นที่กู้ยืมเงินจากโจทก์ แต่จำเลยที่ 2 มิได้กู้ยืมเงินจากโจทก์ ย่อมไม่มีกรณีที่จะต้องบังคับจำนองแก่ที่ดินของจำเลยที่ 2 การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่ชำระให้บังคับจำนองแก่ที่ดินของจำเลยที่ 2 และศาลอุทธรณ์มิได้แก้ไขจึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องสำนวนคดีของจำเลยที่ 1 อันเป็นการมิชอบ กรณีเช่นนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์หรือฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1ชำระเงิน 3,000,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 กันยายน 2537 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้หักเงิน 2,210,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระให้โจทก์รวม 20 ครั้ง ใช้ดอกเบี้ยที่ค้างชำระคำนวณถึงวันชำระแต่ละครั้ง มีเงินเหลือเท่าใดให้ชำระต้นเงิน แล้วคำนวณดอกเบี้ยของต้นเงินที่ค้างชำระไปจนถึงวันที่ชำระครั้งถัดไปตามนัยที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2.

Share