คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3801/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บริษัทจำเลยได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้กับสหภาพแรงงานโดยมีข้อกำหนดว่าให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้นมีผลใช้บังคับต่อลูกจ้างทุกคนของจำเลย คำฟ้องของโจทก์ในฐานะสหภาพแรงงานจึงเป็นคำฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวอันเป็นสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นคู่กรณีต่อกัน โจทก์ไม่จำต้องบรรยายฟ้องว่าลูกจ้างของจำเลยเป็นสมาชิกของโจทก์หรือไม่ ความในบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีว่า สหภาพแรงงานฯโจทก์ตกลงรับหลักการให้ยุบที่พักอาศัยของบริษัทฯ จำเลยได้โดยทั้งสองฝ่ายจะพิจารณาในรายละเอียดร่วมกันและต้องทำความตกลงกันให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2529 และให้ลูกจ้างที่พักอาศัยทุกคนย้ายออกภายใน2 เดือนหลังจากตกลงกันได้ แสดงว่าทั้งโจทก์และจำเลยต่างเห็นชอบพร้อมกันในหลักการที่จะไม่ประสงค์ให้มีที่พักอาศัยของลูกจ้างของจำเลยต่อไปอีก เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยไม่อาจทำความตกลงกันได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด การเจรจาที่ตกลงกันไม่ได้นี้ก็หาเป็นเหตุให้หลักการสำคัญคือการยุบที่พักอาศัยของจำเลยเป็นอันยกเลิกหรือไม่มีผลบังคับต่อไปไม่ เมื่อปรากฏ ว่าวันที่จำเลยประกาศให้ลูกจ้างออกจากหอพักล่วงพ้นปี พ.ศ. 2529 มาแล้ว จำเลยจึงมีสิทธิให้พนักงานของจำเลยออกไปจากหอพักได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามปฏิบัติขัดต่อสัญญาข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างขอให้บังคับจำเลยทั้งสามปฏิบัติตามสัญญาข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ข้อที่ 5 และยกเลิกคำสั่งที่ให้พนักงานออกจากหอพัก
จำเลยทั้งสามให้การว่า คำฟ้องเคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยใช้สิทธิตามกฎหมายในฐานะเป็นเจ้าของทรัพย์สิน
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อน คู่ความแถลงรับกันว่าการยกเลิกที่พักอาศัยได้มีการทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมายเลข 3 ท้ายคำให้การ ส่วนคำสั่งจำเลยให้พนักงานออกจากที่พักอาศัยคือประกาศตามเอกสารหมายเลข 1ท้ายคำให้การ กับจำเลยทั้งสามรับว่าหนังสือหนังสือมอบอำนาจและบันทึกการประชุมกรรมการตามเอกสารท้ายฟ้องถูกต้อง แล้วคู่ความต่างแถลงไม่ขอสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยออกคำสั่งให้ลูกจ้างออกจากที่พักอาศัยตามเอกสารหมายเลข 1 ท้ายคำให้การโดยพลการเป็นการผิดข้อตกลง พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งตามเอกสารหมายเลข 1 ท้ายคำให้การ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ในปัญหาที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่า โจทก์ในฐานะสหภาพแรงงานมิได้ถูกโต้แย้งสิทธิโดยตรง ผู้ที่ถูกโต้แย้งสิทธิคือลูกจ้างของจำเลยทั้งสามบางส่วนที่อาศัยอยู่ในหอพัก ซึ่งไม่ปรากฏว่าลูกจ้างดังกล่าวเป็นสมาชิกของโจทก์และมิได้มอบอำนาจให้โจทก์ดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 36 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิเคราะห์แล้ว ได้ความว่า เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2527 จำเลยทั้งสามได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้กับโจทก์ตามภาพถ่ายบันทึกฉบับลงวันที่ 26 กันยายน2527 เอกสารหมายเลข 3 ท้ายคำให้การ โดยมีข้อกำหนดว่าให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับนี้มีผลใช้บังคับต่อลูกจ้างทุกคนของจำเลยทั้งสาม ดังนั้นคำฟ้องของโจทก์ในฐานะสหภาพแรงงาน จึงเป็นคำฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวอันเป็นสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นคู่กรณีต่อกันกรณีเช่นนี้โจทก์ไม่จำต้องบรรยายฟ้องว่าลูกจ้างของจำเลยทั้งสามเป็นสมาชิกของโจทก์หรือไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยทั้งสามมีสิทธิบังคับให้ลูกจ้างออกจากหอพักตามประกาศของจำเลยทั้งสาฉบับลงวันที่ 26 มีนาคม 2530หรือไม่ จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่า ที่จำเลยประกาศให้พนักงานออกจากหอพักเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิในฐานะเจ้าของทรัพย์สินให้ออกไปได้ อันเป็นความชอบธรรมในการใช้สิทธิเหนือทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เห็นว่า ความในบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมายเลข 3 ท้ายคำให้การ มีข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่องหอพักของพนักงานไว้เพียงข้อเดียวคือ ข้อตกลงข้อที่ 5 ซึ่งมีข้อความว่าสหภาพแรงงานฯ (โจทก์) ตกลงรับหลักการให้ยุบที่พักอาศัยของบริษัทฯ(จำเลยทั้งสาม) ได้ โดยทั้งสองฝ่ายจะพิจารณาในรายละเอียดร่วมกันและต้องทำความตกลงกันให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2529 และให้ลูกจ้างที่พักอาศัยทุกคนย้ายออกภายใน 2 เดือนหลังจากตกลงกันได้เช่นนี้ ความสำคัญของข้อตกลงนี้จึงมีว่าทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสามต่างเห็นชอบพร้อมกันในหลักการที่จะไม่ประสงค์ให้มีที่พักอาศัยของลูกจ้างของจำเลยทั้งสามนี้ต่อไปอีก ส่วนข้อความต่อมาที่ว่าจะมีการเจรจาต่อไปโดยจะต้องตกลงกันให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม2529 นั้นเป็นเพียงรายละเอียดที่จะพึงตกลงกันในเรื่องอื่นทั้งยังแสดงว่าเจตนาของโจทก์และจำเลยทั้งสามนั้นไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไรลูกจ้างของจำเลยทั้งสามจะต้องออกจากหอพักไปอย่างช้าที่สุดคือสิ้นปี พ.ศ. 2529 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสามไม่อาจทำความตกลงกันได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด การเจรจาที่ตกลงกันไม่ได้นี้ก็หาเป็นเหตุให้หลักการสำคัญดังกล่าวคือ การยุบที่พักอาศัยของจำเลยทั้งสามนั้นเป็นอันยกเลิกหรือไม่มีผลบังคับต่อไปไม่เมื่อปรากฏว่าวันที่จำเลยทั้งสามประกาศให้ลูกจ้างออกจากหอพักก็ล้วงพ้นปี พ.ศ. 2529 มาแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิให้พนักงานของจำเลยทั้งสามออกไปจากหอพักของจำเลยที่ 1 ได้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสามที่ให้พนักงานออกจากที่พักอาศัยนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.

Share