แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ขอให้ช่วยลงชื่อค้ำประกันให้ โดยค้ำประกันเพียง 10,000 บาท แบบฟอร์มนั้นยังไม่ได้กรอกข้อความ จำเลยที่ 2 ได้ลงชื่อในสัญญาค้ำประกันให้ไปด้วยความเกรงใจ เพราะจำเลยที่ 1 บอกว่าไม่ต้องกลัวมีเรื่อง คำเบิกความดังกล่าวยังมีข้อต่อสู้ซึ่งศาลจะต้องวินิจฉัยตามประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 2 ค้ำประกันเงินกู้จำเลยที่ 1 จำนวน 30,000 บาท ตามฟ้องหรือไม่ หาใช่เบิกความยอมรับแล้วไม่
ตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์เป็นเรื่อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้แม้มิได้มีการยกขึ้นว่ากันมาแต่ในศาลชั้นต้น
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 เบิกความยอมรับแล้วว่า ค้ำประกันเงินกู้จำเลยที่ 1 จริง ศาลฎีกาตรวจดูแล้วจำเลยที่ 2 เบิกความว่า “จำเลยที่ 1 เรียกข้าฯ ไปที่โต๊ะเขาและบอกว่าช่วยลงชื่อค้ำประกันให้ โดยค้ำประกันเพียง 10,000 บาท แบบฟอร์มนั้นยังไม่ได้กรอกข้อความเลย คนของโจทก์ได้ขอภาพถ่ายบัตรประจำตัวของข้าฯ ไปด้วย ข้าฯ ได้ลงชื่อในสัญญาค้ำประกันให้ไปด้วยความเกรงใจจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1 บอกว่าไม่ต้องกลัวมีเรื่อง” เห็นว่าคำเบิกความดังกล่าว ยังมีข้อต่อสู้ซึ่งศาลจะต้องวินิจฉัยตามประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 2 ค้ำประกันเงินกู้จำเลยที่ 1 จำนวน 30,000 บาท ตามฟ้องหรือไม่ แต่เมื่อปรากฏว่า หนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 มิได้ปิดอากรแสตมป์ตามที่กฎหมายกำหนด จะใช้เอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ ทั้งนี้ตามบทบัญญัติมาตรา 118 แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงขาดหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันมาแสดง ต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องบังคับคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 วรรคสอง ข้อที่โจทก์ฎีกาว่าเอกสารหมาย จ.4 มิได้ปิดอากรแสตมป์ ไม่ได้มีการยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยนั้น เห็นว่า ตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์เป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ศาลยกขึ้นได้เอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 โดยข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน