คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 380/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2ที่ 3 ขับรถยนต์โดยประมาทชนรถโจทก์ที่ 2 เสียหายแล้วได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่2 ย่อมทำให้สิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดระงับไป และทำให้ได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดโดยอาศัยมูลละเมิดและทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างระงับไปด้วย
จำเลยที่ 1 ยังมิได้ชำระค่าเสียหายตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้แก่โจทก์ที่ 2 ความผูกพันตามสัญญาประกันภัยซึ่งโจทก์ที่1 ผู้รับประกันภัยจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 2 ย่อมยังไม่ระงับ เมื่อโจทก์ที่ 1 ได้ใช้ค่าซ่อมรถแทนโจทก์ที่ 2ไป จึงเข้ารับช่วงสิทธิของโจทก์ที่ 2 ผู้เอาประกันภัยเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามจำนวนที่ชดใช้ไปจริงแต่ไม่เกินจำนวนที่โจทก์ที่ 2 มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้
โจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับช่วงสิทธิของโจทก์ที่ 2 ที่จะเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้นเมื่อจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 มิได้เป็นคู่สัญญาในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวกับโจทก์ที่ 2 ด้วยโจทก์ที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ที่ 1 ได้รับประกันภัยรถยนต์ไว้จากโจทก์ที่ 2 ในวงเงิน 50,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์รถของโจทก์ที่ 2 ด้วยความประมาทในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย โจทก์ที่ 1จ่ายค่าซ่อมแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 28,405 บาท ระหว่างซ่อมโจทก์ที่ 2 เสียค่าว่าจ้างรถคันอื่นไปประกอบธุรกิจ และเมื่อซ่อมเสร็จแล้วรถเสื่อมสภาพลง ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2ที่ 3 ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 30,535 บาทแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 35,475 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การว่าจำเลยที่ 2มิได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และไม่ได้ให้จำเลยที่ 1ทำการตามทางการที่จ้าง จำเลยที่ 1 มิได้ขับรถโดยประมาท แต่เหตุเกิดเพราะโจทก์ที่ 2 เป็นฝ่ายประมาท จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองเนื่องจากโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 1ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความในเรื่องละเมิดคดีนี้แล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 1 รับประกันภัยรถยนต์โจทก์ที่ 2 ต่อมาในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์ซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นเจ้าของในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ชนท้ายรถของโจทก์ที่ 2 โดยละเมิด เป็นเหตุให้รถของโจทก์ที่ 2 เสียหาย โจทก์ที่ 1 ซ่อมรถให้โจทก์ที่ 2ตามสัญญาประกันภัยเสียค่าซ่อมไปเป็นเงิน 28,405 บาท หลังเกิดเหตุแล้วจำเลยที่ 1 ตกลงกับโจทก์ที่ 2 ยอมรับผิดและยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 30,730 บาท โดยขอผ่อนชำระเป็น 2 งวด ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.6 มีข้อความว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดและยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 30,730 บาทโดยผ่อนชำระเป็น 2 งวด งวดแรกจะชำระในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2524เป็นเงิน 15,365 บาท งวดที่ 2 จะชำระในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2524เป็นเงิน 15,365 บาทเอกสารดังกล่าวถือได้ว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 เมื่อจำเลยที่ 1 ยังมิได้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 ตามสัญญาดังกล่าว จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ยังมิได้ปฏิบัติตามสัญญาความผูกพันตามสัญญาประกันภัยซึ่งโจทก์ที่ 1 จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 2 ย่อมยังไม่ระงับไป เมื่อโจทก์ที่ 1 ได้จ่ายค่าซ่อมรถแทนโจทก์ที่ 2 ไปแล้วย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของโจทก์ที่ 2 ผู้เอาประกันภัยได้ตามจำนวนเงินที่โจทก์ที่ 1 ได้จ่ายไปจริงแต่ไม่เกินจำนวนที่โจทก์ที่ 2 มีสิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าซ่อมรถจำนวน 28,405 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่โจทก์ที่ 1 เข้ารับช่วงสิทธิคือวันที่ 13 เมษายน 2524 อันเป็นวันที่โจทก์ที่ 1 ได้ชำระค่าซ่อมรถไปและวินิจฉัยฎีกาโจทก์ข้อสุดท้ายว่าเมื่อโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันขึ้นแล้วก็ต้องถือว่ามีสัญญาประนีประนอมยอมความเกิดขึ้นแล้ว และมีผลบังคับกันได้ตามกฎหมาย ….. ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ที่ 2กับจำเลยที่ 1 ย่อมทำให้สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิดเดิมระงับไปและทำให้ได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เมื่อมูลหนี้ละเมิดเดิมระงับไปแล้ว โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดโดยอาศัยมูลหนี้ละเมิดนั้นและย่อมทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 นั้นระงับไปด้วยโจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้เช่นกัน โจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับช่วงสิทธิของโจทก์ที่ 2 ที่จะเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้เป็นคู่สัญญาในสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 28,405 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 13 เมษายน2524 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share