แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ขณะจำเลยกระทำความผิดพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 10 บัญญัติให้รถที่เดินสวนกันหลีกด้านซ้ายและเมื่อขึ้นหน้ารถคันอื่นให้ขึ้นด้านขวาผู้ใดฝ่าฝืนย่อมมีความผิดนั้น ต่อมาพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2508 มาตรา 4 บัญญัติให้ยกเลิกมาตรา 10 นั้นเสียและได้ยอมให้ขับรถขึ้นหน้ารถอื่นทางด้านซ้ายได้ เมื่อไม่มีอะไรกีดขวางและไม่กีดขวางรถอื่นทั้งผู้ขับขี่สามารถกระทำได้โดยปลอดภัยเมื่อจำเลยขับรถขึ้นหน้ารถอื่นทางด้านซ้ายและต้องด้วยข้อยกเว้นของกฎหมายดังกล่าวแล้ว จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลแซงรถอื่นขึ้นไปทางซ้าย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ตามกฎหมายจราจร การขับรถแซงซ้ายเป็นความผิดไม่มีข้อยกเว้นไว้ จะเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ก็ไม่พ้นความผิดไปได้ พิพากษาปรับจำเลย 100 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 10ซึ่งใช้อยู่ในขณะที่จำเลยกระทำความผิด บัญญัติว่า เมื่อรถเดินสวนกันให้หลีกด้านซ้าย และเมื่อขึ้นหน้ารถคันอื่นให้ขึ้นด้านขวา ผู้ใดฝ่าฝืนย่อมมีความผิด แต่ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติ จราจรทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2508 มาตรา 4 บัญญัติให้ยกเลิกความในมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 เสียและให้ใช้ความต่อไปนี้แทนว่า “เมื่อรถเดินสวนกันให้หลีกด้านซ้ายโดยให้ถือกึ่งกลางของทางที่ทำไว้สำหรับให้รถเดินเป็นหลัก แต่ถ้าทางใดเจ้าพนักงานจราจรได้ทำเครื่องหมายเป็นเส้นหรือแนวแบ่งไว้บนพื้นทาง ก็ให้ถือเส้นหรือแนวนั้นเป็นหลัก” และได้บัญญัติความในวรรคสามต่อไปว่า “เมื่อจะขับรถขึ้นหน้ารถอื่นให้ขึ้นด้านขวาเว้นแต่ในเขตเทศบาล เฉพาะในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้ จะขับรถขึ้นหน้ารถอื่นทางด้านซ้ายก็ได้ เมื่อไม่มีอะไรกีดขวางและไม่กีดขวางรถอื่น ทั้งสามารถกระทำได้โดยปลอดภัย
(1) รถข้างหน้ากำลังเลี้ยวขวา
(2) ทางนั้นเจ้าพนักงานจราจรได้แบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่สองแถวขึ้นไป”
(3) ทางนั้นเจ้าพนักงานจราจรไม่ได้แบ่งช่องเดินรถไว้แต่กว้างพอที่จะเดินเรียงกันได้ตั้งแต่สองแถวขึ้นไป”
ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวแล้ว เป็นที่เห็นได้ว่า เมื่อกรณีเข้าข้อยกเว้นตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ ผู้ขับขี่ย่อมที่จะขับรถขึ้นหน้ารถอื่นทางด้านซ้ายได้ ในเมื่อไม่มีอะไรกีดขวางและไม่กีดขวางรถอื่น ทั้งผู้ขับขี่สามารถกระทำได้โดยปลอดภัย ตามข้อเท็จจริงปรากฏตามที่ศาลล่างฟังมาว่า รถจำเลยวิ่งลงสพานสมมตอมรมาตรมาแล้ว แซงรถจักรยานยนต์กับรถยนต์ที่อยู่หน้าอีกคันหนึ่งมาทางด้านซ้ายแล้วมาหยุดรอไฟสัญญาณอยู่ในช่องตรง ซึ่งขณะนั้นรถไม่คับคั่ง พอสัญญาณไฟเขียวขึ้น รถจำเลยก็ออกแล่นไป แสดงว่าในบริเวณที่จำเลยเดินรถขึ้นไปทางซ้ายนั้นกว้างพอที่รถยนต์จำเลยจะแล่นขึ้นไปได้ มิฉะนั้นแล้ว รถยนต์ของจำเลยก็ไม่อาจที่จะขับขึ้นหน้ารถอื่นที่แล่นอยู่ทางด้านขวาขึ้นไปได้ และในขณะนั้นก็ไม่ปรากฏว่ามีอะไรกีดขวางหรือมีรถอื่นกีดขวางอยู่ และจำเลยสามารถกระทำได้โดยปลอดภัย ทางในบริเวณนั้นไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานจราจรได้แบ่งช่องเดินรถไว้เป็นอย่างอื่น คงมีแต่เส้นแบ่งครึ่งถนนไว้การที่จำเลยขับรถขึ้นหน้ารถอื่นไปทางด้านซ้าย จึงต้องด้วยการยกเว้นของกฎหมายดังที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 10 ที่แก้ไขแล้วนั้น และพระราชบัญญัติที่แก้ไขใหม่นี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้น 60 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งได้ประกาศก่อนหน้าที่ศาลอุทธรณ์จะได้มีคำพิพากษาในคดีนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรค 2 ได้บัญญัติไว้ว่า “ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติภายหลัง การกระทำเช่นนี้ไม่เป็นความผิดต่อไปให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิด ฯลฯ” ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาลงโทษจำเลยมาในข้อหานี้ จึงยังไม่ชอบ
พิพากษาแก้โดยให้ยกฟ้องโจทก์ ในข้อหาขับรถแซงซ้ายนี้เสีย