คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3798/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้ามีราคาไล่เลี่ยกับราคาของผู้นำเข้ารายอื่น ๆ ที่นำเข้ามาจากประเทศเดียวกัน ในเที่ยวเรือเดียวกัน และแม้จะนำเข้ามาก่อนประมาณ 3 เดือนหรือหลังประมาณ 2 เดือนก็มีราคาใกล้เคียงกันราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงไว้จึงถือไม่ได้ว่าต่ำกว่าราคาตลาดอันแท้จริง ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินเรียกเก็บตาม ป.รัษฎากร และ พ.ร.บ. รายได้เทศบาล เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ภายในกำหนด 30 วัน ตาม ป.รัษฎากรมาตรา 30 จึงหมดสิทธิที่จะเรียกคืนภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า การที่จำเลยตีราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้าเพิ่มขึ้นและประเมินเรียกเก็บภาษีอากรจากโจทก์นั้นเป็นการไม่ชอบ ให้เพิกถอนการประเมินและให้จำเลยคืนเงินภาษีพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า การประเมินดังกล่าวถูกต้อง จำเลยไม่ต้องคืนเงินดังกล่าวให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยเพิกถอนการประเมินดังกล่าวและให้จำเลยคืนเงินภาษีพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ตามพยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยนำสืบมานั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า บริษัทโจทก์ได้ส่งสินค้าเหล็กแผ่นม้วนรีดด้วยความร้อนจากประเทศสิงคโปร์เข้ามาในราชอาณาจักร โดยสินค้าดังกล่าวนั้นผลิตหรือมีถิ่นกำเนิดในประเทศออสเตรเลีย สินค้าดังกล่าวได้มาถึงท่าเรือกรุงเทพเมื่อวันที่17 พฤษภาคม 2525 โจทก์ได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้ารวม 4 ฉบับ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.ล.1, จ.ล.3, จ.ล.5และ จ.ล.7 ใบขนสินค้าเหล่านี้บางฉบับได้แสดงจำนวนดอกเบี้ยที่จะต้องชำระให้แก่ผู้ขายไว้ด้วย แต่ในการคำนวณภาษีอากรขาเข้านั้นจะไม่นำดอกเบี้ยมารวมคำนวณไว้ด้วย ตามใบขนสินค้าเอกสารหมาย จ.ล.1,จ.ล.5 และ จ.ล.7 นั้น เมื่อคำนวณราคาสินค้าแล้วจะเป็นราคาตันละ239.04, 239.05 และ 265 เหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ส่วนสินค้าตามใบขนสินค้าเอกสารหมาย จ.ล.3 จะเป็นราคาตันละ 248.04 เหรียญสหรัฐพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่พอใจในราคาที่สำแดงไว้นั้น จึงสั่งให้โจทก์วางเงินประกันโจทก์ได้ชำระอากรขาเข้า ภาษีการค้าภาษีบำรุงเทศบาลและค่าธรรมเนียมพิเศษตามราคาสินค้าที่สำแดงไว้นั้นพร้อมกับวางเงินประกันไว้อีก 515,000 บาท ปรากฏตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.4 ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงไว้นั้นต่ำไป ราคาตลาดอันแท้จริงตามใบขนสินค้าเอกสารหมาย จ.ล.1, จ.ล.5 และ จ.ล.7 จะต้องเป็นตันละ 318 เหรียญสหรัฐ และตามใบขนสินค้าเอกสารหมาย จ.ล.3ต้องเป็นราคาตันละ 323 เหรียญสหรัฐ แต่เนื่องจากโจทก์สั่งซื้อจากประเทศสิงคโปร์ซึ่งมิใช่ประเทศผู้ผลิตโดยตรง ผู้ขายจะต้องบวกค่านายหน้าและตอบแทนอื่น ๆ ไว้ด้วย พนักงานเจ้าหน้าที่จึงประเมินราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 3 เป็นว่า สินค้าตามใบขนสินค้าเอกสารหมาย จ.ล.1, จ.ล.5 และ จ.ล.7 ราคาตันละ 327.54 เหรียญสหรัฐส่วนสินค้าตามใบขนสินค้าเอกสารหมาย จ.ล.3 ราคาตันละ 332.69เหรียญสหรัฐ และประเมินเรียกเก็บภาษีอากรในการนำเข้าเพิ่มขึ้นรวมเป็นอากรขาเข้า ภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาล และค่าธรรมเนียมพิเศษที่จะต้องชำระเพิ่มขึ้นอีก 500,954.02 บาท ปรากฏตามแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้าและภาษีการค้า เอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.8และทางฝ่ายจำเลยได้หักเงินที่โจทก์วางประกันไว้นั้นชำระภาษีอากรที่จะต้องชำระเพิ่ม ปรากฏตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.9 ถึงจ.12 โจทก์ไม่พอใจในการประเมิน ได้ยื่นอุทธรณ์ต่ออธิบดีกรมศุลกากรตามเอกสารหมาย จ.13 ต่อมาอธิบดีกรมศุลกากรได้มีหนังสือแจ้งผลของการอุทธรณ์ให้โจทก์ทราบ โดยยืนยันว่าราคาสินค้าที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินไว้นั้นถูกต้องแล้ว โจทก์จึงนำคดีมาฟ้อง
ปัญหาข้อแรกที่จะต้องวินิจฉัยก็คือ ราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าเอกสารหมาย จ.ล.1, จ.ล.3, จ.ล.5 และ จ.ล.7 นั้นต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าสินค้าที่โจทก์สำแดงไว้ตามใบขนสินค้าเอกสารหมาย จ.ล.1, จ.ล.5และ จ.ล.7 นั้น ราคาตันละ 239.01, 239.05 และ 265 เหรียญสหรัฐตามลำดับ ส่วนสินค้าตามใบขนสินค้าเอกสารหมาย จ.ล.3 ราคาตันละ248 เหรียญสหรัฐดังกล่าวแล้วข้างต้น แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินราคาสินค้าตามใบขนสินค้าเอกสารหมาย จ.ล.1, จ.ล.5 และจ.ล.7 เป็นตันละ 327.54 เหรียญสหรัฐ ส่วนสินค้าตามใบขนสินค้าเอกสารหมาย จ.ล.3 ประเมินเป็นราคาตันละ 332.69 เหรียญสหรัฐเพราะพนักงานเจ้าหน้าที่ถือว่าเมื่อเดือนกรกฎาคม 2523 ได้มีผู้นำสินค้าประเภทและชนิดเดียวกันนี้เข้ามาในราคาตันละ 318 และ323 เหรียญสหรัฐ และเนื่องจากโจทก์สั่งซื้อสินค้าดังกล่าวจากประเทศสิงคโปร์ซึ่งมิใช่ประเทศผู้ผลิตโดยตรง หนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้รวมค่านายหน้าหรือค่าตอบแทนเข้าไปอีกร้อยละ 3 เป็นราคาตันละ327.54 และ 332.69 เหรียญสหรัฐ ตามลำดับ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าราคาสินค้าที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยนำมาเป็นเกณฑ์เปรียบเทียบนั้น เป็นราคาสินค้าที่สั่งเข้ามาก่อนหน้าที่โจทก์สั่งสินค้ารายพิพาทเข้ามาประมาณ 2 ปี ในช่วงระยะเวลาประมาณ 2 ปีนั้น ราคาสินค้าย่อมจะต้องเปลี่ยนแปลงไปบ้างโจทก์นำสืบว่า ก่อนที่โจทก์จะสั่งสินค้ารายพิพาทเข้ามาประมาณ 3 เดือน บริษัทเมืองไทยเหล็กกล้าจำกัด ได้สั่งสินค้าประเภทและชนิดเดียวกันนี้เข้ามาจากประเทศสิงคโปร์ ในราคาตันละ 255 เหรียญสหรัฐ ปรากฏตามเอกสารหมายจ.15 และ จ.16 และในเที่ยวเรือนเดียวกันกับที่โจทก์สั่งสินค้ารายพิพาทเข้ามานี้ บรัษัทสหวิริยะพาณิชย์ จำกัดบริษัทบริบูรณ์พาณิชย์ จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัดชลวิริยะ ก็ได้สั่งสินค้าประเภทและชนิดเดียวกันนี้เข้ามาในราคาตันละ 265, 240และ 250 เหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ซึ่งเป็นราคาไล่เลี่ยกับที่โจทก์สั่งเข้ามา และหลังจากโจทก์สั่งสินค้ารายพิพาทเข้ามาแล้วประมาณ2 เดือน คือเมื่อเดือนกรกฎาคม 2525 บริษัทเมืองไทยเหล็กกล้า จำกัดได้สั่งสินค้าประเภทและชนิดเดียวกันนี้จากประเทศสิงคโปร์ในราคาตันละ240 เหรียญสหรัฐ (เกรด 2) และตันละ 244.50 เหรียญสหรัฐ (เกรด 1)ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.20 อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าราคาสินค้ามีแนวโนม้ลดลง ซึ่งทางฝ่ายจำเลยมิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น โดยเฉพาะราคาสินค้าที่บริษัทเมืองไทยเหล็กกล้า จำกัดสั่งเข้ามาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2525 ตามเอกสารหมาย จ.20 ในราคาตันละ 240 และ 244.50 เหรียญสหรัฐ นั้น เป็นราคาที่ใกล้เคียงกับราคาที่โจทก์สั่งเข้ามาเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้โจทก์ยังนำสืบอีกว่าต่อมาในปี พ.ศ. 2526 ทางกรมศุลกากรจำเลยยอมรับราคาเหล็กแผ่นม้วนรีดร้อนตามประเภทและชนิดเดียวกันนี้ (เกรด 1) ในราคาตันละ240 เหรียญสหรัฐ เป็นราคาตลาดอีกด้วย ซึ่งทางฝ่ายจำเลยก็มิได้นำสืบปฏิเสธให้เห็นเป็นอย่งอื่น จึงรับฟังได้ว่าเป็นความจริง เมื่อพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเช่นนี้ ที่โจทก์นำแดงราคาสินค้าตามใบขนสินค้าเอกสารหมาย จ.ล.1 ในราคาตันละ 239.04 เหรียญสหรัฐ ตามใบขนสินค้าจ.ล.3 ราคาตันละ 248.04 เหรียญสหรับ ตามใบขนสินค้า จ.ล.5 ราคาตันละ239.05 เหรียญสหรัฐและตามใบขนสินค้า จ.ล.7 ราคาตันละ 265เหรียญสหรัฐนั้น จึงถือไม่ได้ว่าต่ำกว่าราคาตลาดอันแท้จริง การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินราคาสินค้าเป็นตันละ 327.54และตันละ 332.69 เหรียญสหรัฐนั้น จึงไม่ถูกต้อง แต่อย่างไรก็ตามสำหรับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินเรียกเก็บตามประมวลรัษฎากรและพระราชบัญญัติรายได้เทศบาลนั้น หลังจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำการประเมินแล้ว โจทก์มิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ต่อศาลภายในกำหนดเวลา 30 วัน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 จึงหมดสิทธิที่จะเรียกคืนภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล คงมีสิทธิฟ้องเรียกคืนแต่เฉพาะอากรขาเข้าและค่าธรรมเนียมพิเศษเท่านั้น ที่ศาลภาษีอากรกลางคืนเงินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลให้โจทก์ด้วยนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย
โจทก์จะมีสิทธิเรียกคืนอากรขาเข้าและค่าธรรมเนียมพิเศษเป็นจำนวนเท่าใดนั้น ปรากฏว่าโจทก์ชำระอากรขาเข้าและค่าธรรมเนียมพิเศษไว้ตามใบเสร็จรับเงิน เอกสารหมาย จ.9 เป็นเงิน 66,609.38 บาทตามใบเสร็จรับเงิน เอกสารหมาย จ.10 เป็นเงิน 70,352.76 บาทตามใบเสร็จรับเงิน ตามเอกสารหมาย จ.11 เป็นเงิน 130,928.92 บาทและตามใบเสร็จรับเงิน ตามเอกสารหมาย จ.12 เป็นเงิน 64,481.81 บาทจึงรวมเป็นอากรขาเข้าและค่าธรรมเนียมพิเศษที่จะต้องคืนให้โจทก์ทั้งสิ้น 332,372.87 บาท โดยจำเลยจะต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่วางเงินประกัน คือวันที่ 18พฤษภาคม 2525 เป็นต้นไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการประเมินแต่เฉพาะค่าอากรขาเข้าและค่าธรรมเนียมพิเศษ ให้จำเลยคืนเงินอากรขาเข้าและค่าธรรมเนียมพิเศษแก่โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 332,372.87 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2525 จนถึงวันชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ”.

Share