คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3797/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หนังสือรับสภาพความรับผิดมีลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยที่ 1ในช่องผู้ให้สัญญา และมีลายมือชื่อโจทก์ในช่องผู้รับสัญญา โดยไม่มีผู้ใดลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาและรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยที่ 1 ส่วนทางด้านซ้ายมือเยื้อง ๆ กับช่องที่จำเลยที่ 1พิมพ์ลายนิ้วมือมีการเขียนเติมให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในช่องผู้ให้สัญญาและจำเลยที่ 3 พิมพ์ลายนิ้วมือในช่องผู้ให้สัญญาอีกช่องหนึ่งซึ่งเขียนถัดลงมา โดยไม่มีพยานลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือเช่นเดียวกันดังนี้ เท่ากับจำเลยที่ 1 และที่ 3ไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้ในเอกสารดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 9 วรรคสาม จึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งแม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ไว้และมิได้ยกขึ้นมาในฎีกาก็ตาม แต่ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมนายพร้อม ชนนะมะ ซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 1และเป็นบิดาจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นลูกหนี้ยืมเงินโจทก์ 100,000 บาทต่อมาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2526 หลังจากที่นายพร้อมตาย จำเลยทั้งสามได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ระหว่างโจทก์กับนายพร้อมไว้ว่าตามที่นายพร้อมเป็นหนี้โจทก์อยู่ จำเลยทั้งสามจะรับผิดชดใช้ให้แทน ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันทำหนังสือรับสภาพหนี้โดยจะชำระหนี้ภายในเดือนเมษายน 2527 เมื่อครบกำหนดชำระหนี้แล้ว โจทก์ทวงถามหลายครั้ง แต่จำเลยทั้งสามไม่ชำระ จึงขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2526 จนถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 10,999.99 บาท และนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จจำเลยทั้งสามให้การว่า นายพร้อมซึ่งเป็นสามี จำเลยที่ 1 และเป็นบิดาจำเลยที่ 2 ที่ 3 ตายเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2519ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ นายพร้อมอาจเคยยืมเงินนายเทศน์ สายันห์ซึ่งเป็นบิดาของภรรยาโจทก์ทั้งนี้เพราะเมื่อปี พ.ศ. 2522 หรือ 2523หลังจากที่นายเทศน์ตาย โจทก์พบ น.ส.3 ที่ดินของนายพร้อมตกอยู่ที่บ้านนายเทศน์ โจทก์สันนิษฐานว่านายพร้อมคงยืมเงินนายเทศน์ และมอบ น.ส.3 ที่ดินไว้เป็นประกัน ดังนั้น โจทก์จึงให้จำเลยทั้งสามผู้เป็นทายาทของนายพร้อมไปพบและแจ้งว่านายพร้อมเคยยืมเงินนายเทศน์และได้มอบ น.ส.3 ที่ดินไว้เป็นประกัน หากจำเลยทั้งสามจะเอา น.ส.3 ที่ดินคืนก็ให้ลงชื่อรับในแบบพิมพ์ บัดนี้จำเลยทั้งสามทราบว่าแบบพิมพ์ที่ให้จำเลยทั้งสามลงชื่อนั้น คือหนังสือรับสภาพหนี้ท้ายฟ้อง หนังสือรับสภาพหนี้จึงไม่สมบูรณ์การรับสภาพหนี้ทำขึ้นหลังจากนายพร้อมตายเกินกว่า 1 ปี ซึ่งโจทก์ทราบดี เมื่อโจทก์ไม่ฟ้องเรียกหนี้ดังกล่าวภายใน 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 100,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2526จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ ซึ่งตามกฎหมายเป็นหนังสือรับสภาพความรับผิดนั้น ปรากฏว่าทำที่บ้านเลขที่ 103หมู่ที่ 10 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรีซึ่งเป็นบ้านของโจทก์ มีข้อความว่า “ข้าพเจ้านางกลุ่ม ชนนะมะ…ภรรยาของนายพร้อม ชนนะมะ (ผู้ตาย) ขอทำหนังสือฉบับนี้ขึ้นมาเพื่อแสดงว่าตามที่นายพร้อม ชนนะมะ สามีของข้าพเจ้าได้เป็นหนี้เงินกู้เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) แก่นายวิชัย โรจนาภรณ์ นั้น ข้าพเจ้าขอเข้าเป็นผู้รับผิดชอบชดใช้หนี้เงินดังกล่าวนี้แทนทุกประการโดยตกลงจะนำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระคืนให้ภายในกำหนดเวลาเดือน เม.ย. 27 นับแต่วันทำหนังสือรับสภาพหนี้ฉบับนี้เป็นต้นไปพร้อมกันนี้ข้าพเจ้ายินยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ให้แก่นายวิชัย โรจนาภรณ์นับแต่วันทำหนังสือรับสภาพหนี้ฉบับนี้อีกโสดหนึ่งด้วย หากปรากฏว่าข้าพเจ้ากระทำผิดสัญญารับสภาพหนี้ฉบับนี้ยินยอมให้นายวิชัยโรจนาภรณ์ ดำเนินการกับข้าพเจ้าได้ตามกฎหมายทันที โดยมิต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรหรือโดยวาจาแต่อย่างใด ๆทั้งสิ้น” เอกสารฉบับนี้มีลายพิมพ์นิ้วมือของนางกลุ่ม ชนนะมะ(จำเลยที่ 1) ในช่องผู้ให้สัญญา และมีลายมือชื่อนายวิชัยโรจนาภรณ์ (โจทก์) ในช่องผู้รับสัญญา ไม่มีผู้ใดลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาและรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยที่ 1 ส่วนทางด้านซ้ายมือเยื้อง ๆ กับช่องที่จำเลยที่ 1 พิมพ์ลายนิ้วมือมีการเขียนเติมให้นายสุชิน ชนนะมะ (จำเลยที่ 2) ลงลายมือชื่อในช่องผู้ให้สัญญาและนางนกเอี้ยง ชนนะมะ (จำเลยที่ 3)พิมพ์ลายนิ้วมือในช่องผู้ให้สัญญาอีกช่องหนึ่งซึ่งเขียนถัดลงมาโดยไม่มีพยานลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือเช่นเดียวกับลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยที่ 1 ดังนี้ เอกสารหมาย จ.1 จึงเท่ากับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 9 วรรคสาม เอกสารดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ไว้และมิได้ยกขึ้นมาในฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) และมีปัญหาต่อไปว่าจำเลยที่ 2 ผู้ลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวจะต้องรับผิดหรือไม่โจทก์เบิกความว่า นัดให้จำเลยที่ 1 คนเดียวไปทำหนังสือรับสภาพหนี้แต่ในวันนัดมีจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไปกับจำเลยที่ 1 ด้วยจึงให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้ด้วย ดังนั้น เจตนาที่แท้จริงโจทก์ต้องการให้จำเลยที่ 1 เท่านั้น ทำหนังสือดังกล่าวซึ่งข้อความในเอกสารหมาย จ.1ก็ระบุแต่จำเลยที่ 1 คนเดียวที่เป็นผู้ยอมชำระหนี้แทนนายพร้อมผู้ตายซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 1 ไม่มีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นบุตรของนายพร้อมยอมรับชำระหนี้แทนนายพร้อมแต่อย่างใดทั้งการลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ก็ทำต่างหากคนละแห่งไม่เหมือนกับที่จำเลยที่ 1 พิมพ์ลายนิ้วมือ ซึ่งกระทำในช่องที่พิมพ์ไว้แล้วส่วนช่องที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อมีการเขียนขึ้นใหม่ ซึ่งโจทก์เบิกความรับว่า ใช้ปากกาคนละด้ามกับที่โจทก์ใช้กรอกข้อความและลงลายมือชื่อเป็นผู้รับสัญญาในเอกสารดังกล่าว โจทก์ไม่ยืนยันว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาทำหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว เพียงแต่ว่าเมื่อจำเลยที่ 2 มาด้วย ก็ให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้จึงน่าเชื่อว่าโจทก์ได้ให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อคนละครั้งกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ทราบเรื่อง ประกอบกับข้อความในเอกสารดังกล่าวก็ไม่มีตอนใดที่ระบุว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับผิดชำระหนี้รายนี้ ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องผูกพันรับผิดตามเอกสารดังกล่าว”
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

Share